ศึก "สหรัฐ-จีน" ส่อกระทบ "TSMC" ผู้ผลิตชิปเบอร์ 1 โลก ซ้ำเติมวิกฤติขาดแคลน
จับตา! "เพโลซี เอฟเฟ็กต์" หลังการเยือนไต้หวันของ "แนนซี เพโลซี" ประธานสภาฯสหรัฐในสัปดาห์นี้ ยิ่งเพิ่มรอยร้าวระหว่างจีน-สหรัฐ ส่อกระทบ "TSMC" ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกของไต้หวัน และอาจลามถึงซัพพลายเชนชิปโลกที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนหนัก
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีนำเสนอบทวิเคราะห์ ระบุว่า กรณีการเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ก่อนหน้านั้นทางการจีนเตือนให้นางเพโลซีทบทวนอยู่หลายครั้ง ส่งผลให้หลายฝ่ายจับตาบทบาทของไต้หวันในด้านซัพพลายเชนชิประดับโลก โดยเฉพาะกับบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง คอมพานี (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก
นอกจากการเยือนไต้หวันและพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน สร้างความเดือดดาลให้กับรัฐบาลปักกิ่งแล้ว นางเพโลซียังไปพบกับนายมาร์ค หลิว ประธานบริษัท TSMC ด้วย ถือเป็นสัญญาณว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญต่อสหรัฐอย่างยิ่ง ทั้งด้านความมั่นคงแห่งชาติ และบทบาทสำคัญของบริษัท TSMC ในการผลิตชิปล้ำสมัยป้อนสู่ตลาดโลก
- เครดิตรูป : AFP -
ปัจจุบัน เซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในสมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์และตู้เย็น กลายเป็นองค์ประกอบหลักในการช่วงชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้
วิกฤติชิปขาดแคลนที่ผ่านมา เป็นตัวกระตุ้นให้สหรัฐพยายามหาหุ้นส่วนด้านเซมิคอนดักเตอร์กับชาติพันธมิตรในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าจะมีชิปมากพอ และรักษาความเป็นผู้นำเหนือจีนได้ต่อไป
นางรีมา ภัตตาชาร์ยา หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียของบริษัทเวอร์ริสค์ เมเปิลครอฟท์ (Verisk Maplecroft) ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ว่า สถานะทางการทูตที่ยังคาราคาซังของไต้หวัน จะยังคงเป็นชนวนเหตุของความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียด
"เหตุผลชัดเจนที่ไต้หวันมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมากก็คือ การเป็นผู้ผลิตชิปและซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกนั่นเอง" นางภัตตาชาร์ยาระบุ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกิดกระแสวิตกกันว่า หากจีนบุกไต้หวัน อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อโครงสร้างอำนาจในตลาดชิปโลก โดยอาจจะทำให้จีนครองอำนาจควบคุมเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกัน การบุกไต้หวันก็อาจทำให้เกิดภาวะชิปขาดแคลนทั่วโลกอีกด้วย
- เครดิตรูป : Reuters -
“เป็นไปได้สูงว่าจีนจะโอนกิจการ TSMC มาเป็นของรัฐ แล้วเริ่มผนวกบริษัทและเทคโนโลยีนี้เข้าในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน” นายอบิชูร์ ปรากาช ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต (Center for Innovating the Future) เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีผ่านทางอีเมล
ขณะเดียวกัน TSMC อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน และอาจถูกบีบให้ต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง
“อันที่จริง บริษัทอย่าง TSMC อาจได้เลือกข้างไปแล้วด้วยซ้ำ จากการที่บริษัทกำลังลงทุนในสหรัฐเพื่อสนับสนุนการผลิตชิปของสหรัฐ แถมยังเคยกล่าวว่าต้องการร่วมงานกับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ในด้านการผลิตชิปอีกด้วย” นายปรากาชกล่าว
นายปรากาช เสริมว่า ขณะนี้ หลายบริษัทกำลังแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองกับประเทศที่ร่วมงานด้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่คำถามสำคัญคือ เมื่อความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนเพิ่มขึ้น TSMC จะยังคงรักษาจุดยืน (เข้าข้างตะวันตก) ได้หรือไม่ หรือจะถูกบังคับให้ต้องปรับกลยุทธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ใหม่
----------------
ที่มา: CNBC