พบไวรัสใหม่ "ลางยา" ในจีน ติดเชื้อหลายสิบราย คาดต้นตอจาก "หนูผี"
นักวิจัยนานาชาติเริ่มแกะรอยไวรัสใหม่ ชื่อว่า “ลางยาเฮนิปาห์” (Langya henipavirus) หรือ “เลย์วี” (LayV) หลังจีนพบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้แล้วหลายสิบคน คาด “หนูผี” เป็นต้นตอ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแพร่สู่คนได้หรือไม่
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้ (10 ส.ค.) ว่า ไวรัสเลย์วี อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสนิปาห์ (Nipah) และไวรัสเฮนดรา (Hendra) ถูกพบครั้งแรกในมณฑลซานตงและเหอหนาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนช่วงปลายปี 2561 แต่เพิ่งถูกนักวิทยาศาสตร์ระบุถึงอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
บรรดานักวิทยาศาสตร์จากจีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ไวรัสเลย์วีถูกตรวจพบเบื้องต้นจากผู้ที่มีอาการไข้ในภาคตะวันออกของจีน ซึ่งมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเหนื่อยล้า ไอ สูญเสียความอยากอาหาร และปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังมีอาการผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด รวมถึงสัญญาณความเสียหายของตับและไต
วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine) ระบุว่า ผู้ป่วย 26 คนจากทั้งหมด 35 รายในกลุ่มข้างต้น ติดเชื้อไวรัสเลย์วี
ขณะที่นักวิจัยระบุว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสเลย์วี หรือมีประวัติเคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่า การติดเชื้อจากคนสู่คน “อาจมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว” และขณะนี้หน่วยงานสาธารณสุขไต้หวันกำลังจับตาการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด
ผลการตรวจเชื้อยังระบุด้วยว่า ไวรัสดังกล่าวพบใน “หนูผี” (Shrew) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก มีลักษณะทั่วไปคล้ายหนู ประมาณ 27% ซึ่งมักเป็นพาหะของไวรัสเฮนิปาห์ (Henipavirus) ในตระกูลเดียวกัน จึงบ่งชี้ได้ว่า หนูผีอาจเป็นแหล่งรังโรคตามธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็พบไวรัสนี้ใน 2% ของแพะ และ 5% ของสุนัขในท้องถิ่นด้วย
- หนูผี (Shrew) ผู้ต้องสงสัยเป็นพาหะไวรัสเลย์วีในจีน -
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสเลย์วี และนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า “ไม่ต้องตระหนก”
ศาสตราจารย์ หวัง หลินฟา จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (Duke-NUS Medical School) ซึ่งรวมเขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ด้วย เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ ผู้ติดเชื้อไวรัสเลย์วีไม่เคยมีถึงขั้นเสียชีวิตหรืออาการรุนแรง และ “ไม่มีความจำเป็นต้องตื่นตระหนก”
ขณะที่คณะวิจัยจากจีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ระบุว่า จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับโรคชนิดนี้ให้ดีขึ้นต่อไป
-------------
ที่มา: Bloomberg, Guardian, Washington Post