ดาวโจนส์พุ่ง 424 จุดขานรับผู้บริโภคลดคาดการณ์เงินเฟ้อ
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(12ส.ค.)พุ่งขึ้น 424 จุด ขานรับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งระบุว่า ผู้บริโภคได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 424.38 จุด หรือ 1.27% ปิดที่ 33,761.05 จุด
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 1.73% ปิดที่ 4,280.15 จุด
ดัชนีแนสแด็ก บวก 2.09% ปิดที่ 13,047.19 จุด
หุ้นปรับตัวขึ้นทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มพลังงานซึ่งร่วงลงตามการดิ่งลงของราคาน้ำมันในวันนี้
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.1 ในเดือนส.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 51.5 ในเดือนก.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 5.2% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.0% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 2.9% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวอย่างชัดเจนหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 15 มิ.ย. แม้ว่าเฟดคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ก่อนหน้านั้นเพียง 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ระบุว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 5.4% ในปีหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าเงินเฟ้อจะแตะ 3.3% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนก.ย. และเพิ่มคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งต่างบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 63.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 36.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 31.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในเดือนนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 25-27 ส.ค. ในหัวข้อ "Reassessing Constraints on the Economy and Policy"
ทั้งนี้ การประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากประเทศต่างๆทั่วโลก จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ขณะที่ไฮไลท์จะอยู่ที่การกล่าวปาฐกถาของประธานเฟดในขณะนั้นเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
สำหรับในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในปีนี้ คาดว่านายพาวเวลจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือนก.ค.
ในการแถลงต่อสภาคองเกรสก่อนหน้านี้ นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดมีความมุ่งมั่น 'อย่างไม่มีเงื่อนไข' ในการรักษาเสถียรภาพของราคา ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายจากการที่เงินเฟ้อไม่สามารถควบคุมได้จนทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว