“โคอินัวร์” เพชรฉาวประดับยอดมงกุฏ อินเดียทวงคืนหลังสิ้นควีนเอลิซาเบธที่ 2
เมื่อ “โคอินัวร์” เพชรอื้อฉาวระดับโลก ปะทุเป็นกระแสอีกครั้งในโลกออนไลน์อินเดีย เรียกร้องสิทธิและทวงคืน หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต บ้างชี้หากไม่คืน กษัตริย์ชาร์ลสที่ 3 ต้องยอมรับประวัติศาสตร์สีดำของเพชรเม็ดนี้
นิตสารไทมส์รายงานว่า เพียงไม่นานหลังจากที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 8 กันยายน 2565 ได้มีกระแสคำว่า “โคอินัวร์” (Kohinoor) บนทวิตเตอร์ในสังคมอินเดีย
และก่อนหน้านี้ ในสังคมชาวอังกฤษได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า เมื่อกษัตริย์ชาร์ลสที่ 3 ขึ้นครองราชย์ "คามิลลา" ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ จะได้สวมมงกุฏอันล้ำค่าที่มีเพชรโคอินัวร์ประดับอยู่บนยอดมงกุฏ ซึ่งเป็นของพระราชินี
ทางกรุงเทพธุรกิจขอสรุปเฉพาะใจความสำคัญๆ ที่ชาวอินเดียได้ทวีตแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย และขอเล่าตำนานเพชรโคอินัวร์ เพื่อให้เห็นว่า ทำไมชาวอินเดียถึงหวงแหนเพชรเลอค่าเม็ดนี้ยิ่งนัก
“โคอินัวร์” เป็นอัญมณีที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเพชรโคอินัวร์เป็นหนึ่งในเพชร 2,800 เม็ดบนมงกุฏที่จัดทำขึ้นเพื่อสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แต่เพชรรูปวงรีขนาดปัจจุบัน 105.602 กะรัต เป็นอัญมณีที่ลือเลื่องที่สุดกว่าเพชรทุกเม็ดของมงกุฏ
สำนักข่าวบีบีซีเล่าถึงโคอินัวร์ อัญมณีเลอค่าว่า เพชรขนาด 105 กะรัต เม็ดนี้ตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อราวกลางศตวรรษที่ 19 และทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ประดับที่ยอดมงกุฏ ซึ่งจัดแสดงที่ทาวเวอร์ออฟลอนดอน คนอินเดียจำนวนมากเชื่อว่าอังกฤษโจรกรรมเพชรเม็ดนี้มาจากพวกเขา
การครอบครองเพชรโคอินัวร์ของสหราชอาณาจักรได้สร้างความขัดแย้งไว้ และไม่อาจล่วงรู้ชะตาของเพชรเม็ดนี้ แต่โอกาสที่อัญมณีนี้จะอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไปได้ปลุกกระแสให้ชาวอินเดียทวงคืนเพชรโคอินัวร์กลับมา
“ถ้ากษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร ทรงไม่สวมมงกุฏนี้ ก็ควรคืนให้ผู้เป็นเจ้าของ” ชาวอินเดียคนหนึ่งทวีต
บ้างก็ว่า เพชร “ถูกขโมย” โดยชาวอังกฤษที่ “สร้างความมั่งคั่ง” จาก “ความตาย” “ความอดอยาก” และ “การปล้นสะดม”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวอินเดียขอคืนเพชรโคอินัวร์ เมื่อครั้งที่ได้รับเอกราชในปี 1947 ต่อมารัฐบาลอินเดียได้เรียกร้องอีกครั้งในปีที่จัดพิธีราชาภิเษกของควีนอลิซาเบธที่ 2 แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรกลับทำไม่ได้ยิน โดยสหราชอาณาจักรโต้แย้งว่าไม่มีเหตุผลทางกฎหมายจะชดใช้ค่าเสียหายหรือส่งคืนเพชรโคอินัวร์ให้กับอินเดีย
ในหนังสือเรื่องมหากาพย์โคอินัวร์ เขียนโดย วิลเลียม ดัลริมเปิล กับอนิตา อานันท์ ได้เล่าตำนานเพชรชนิดนี้ไว้ 6 เรื่อง
ตำนานที่ 1 โคอินัวร์เป็นยอดเพชรของอินเดีย
ข้อเท็จจริง ตอนที่เพชรโคอินัวร์ตกมาถึงมืออังกฤษ เพชรมีขนาด 190.3 กะรัต ยังมีเพชรที่มีขนาดไล่เลี่ยกับโคอินัวร์อีกอย่างน้อย 2 เม็ด คือดาเรียอินัวร์ ตอนนี้อยู่ในกรุงเตหะราน ประเมินในปัจจุบันมีขนาด 175-195 กะรัต และยอดเพชรแห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพชรเชื่อว่าคือเพชรออลอฟ ซึ่งมีขนาด 189.9 กะรัต เพชรทั้ง 3 เม็ดออกจากอินเดีย หลังจากที่นาดีร์ชาห์ ผู้ปกครองอิหร่านกรีฑาทัพบุกอินเดียเมื่อปี 2282 และปล้นสะดมภ์สมบัติในท้องพระคลังไป จนกระทั่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 โคอินัวร์เริ่มกลายเป็นเพชรที่โด่งดัง เมื่อตกไปอยู่ในมือของผู้ครองครอบในรัฐปัญจาบ
ตำนานที่ 2 โคอินัวร์เป็นเพชรน้ำงามไร้ตำหนิ
ข้อเท็จจริง โคอินัวร์ในตอนที่ยังไม่เจียระไนเป็นเพชรที่มีตำหนิ ในตัวเพชรมีรอยด่างออกสีเหลืองหลายรอย บางรอยมีขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้มันไม่สะท้อนแสง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงปรารถนาให้มีการเจียระไนโคอินัวร์ นอกจากนั้นโคอินัวร์ยังไม่ได้เป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก จัดว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 90 เท่านั้น
ตำนานที่ 3 เพชรโคอินัวร์มาจากเหมืองโคลูร์ ในอินเดีย เมื่อศตวรรษที่ 13
ข้อเท็จจริง เป็นไปไม่ได้ที่จะสืบสาวได้ว่า โคอินัวร์ถูกค้นพบเมื่อไรและที่ไหน ซึ่งทำให้โคอินัวร์เป็นเพชรที่มีประวัติเป็นปริศนา บางคนถึงกับเชื่อว่าโคอินัวร์คืออัญมณีของพระกฤษณะตามคัมภีร์ภควัทปุรณะ โดยมีการสกัดขึ้นมาในสมัยพระกฤษณะ อย่างไรก็ตามผู้เขียนมหากาพย์โคอินัวร์ชี้ว่า เพชรโคอินัวร์ไม่ได้พบในเหมือง แต่ถูกขุดขึ้นมาจากก้นแม่น้ำที่แห้งขอด น่าจะเป็นทางตอนใต้ของอินเดีย ทั้งนี้เพราะเพชรที่พบในอินเดียไม่ได้เป็นเพชรจากเหมือง แต่เป็นเพชรที่พบตามร่องน้ำ หรือตามก้นแม่น้ำที่แห้งขอด
ตำนานที่ 4 โคอินัวร์เป็นสมบัติที่มีค่ามากที่สุดของราชวงศ์โมกุล
ข้อเท็จจริง แม้ว่าชาวฮินดูและชาวซิกข์นิยมเพชรมากกว่าอัญมณีชนิดอื่น ขณะที่จักรวรรดิโมกุลและเปอร์เชียชื่นชอบหินที่มีสีสันสดใสขนาดใหญ่และยังไม่เจียระไน สมบัติของราชวงศ์โมกุลมีมากมายเหลือคณานับ
ตำนานที่ 5 โคอินัวร์ถูกโจรกรรมมาจากจักรพรรดิมูฮัมหมัด ชาห์ รานกิลา แห่งจักรวรรดิโมกุล ในระหว่างพิธีแลกเปลี่ยนผ้าโพกพระเศียร
เรื่องเล่าขานยอดนิยมนี้อ้างว่า จักรพรรดินาดีร์ ชาห์ ผู้ปกครองอาณาจักรเปอร์เซียทรงวางแผนไว้อย่างแยบยลว่าจะชิงโคอินัวร์มาจากจักรพรรดิแห่งโมกุล ที่ได้ซ่อนเพชรไว้ในผ้าโพกพระเศียร
มาร์วี นักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซีย ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์บันทึกไว้ว่า จักรพรรดิมูฮัมหมัดทรงไม่สามารถที่จะซ่อนอัญมนีไว้ในผ้าโพกพระเศียรได้ เพราะว่าเพชรโคอินัวร์ถูกประดับไว้ที่ยอดพระราชบัลลังก์นกยูงของพระเจ้าชาห์จาฮาน
ตำนานที่ 6 ช่างชาวเมืองเวนิสเจียระไนโคอินัวร์ไม่ระมัดระวัง ทำให้เพชรมีขนาดลดลงไปมาก
ข้อเท็จจริง หลักฐานของฌอง-แบปทิสต์ แทเวอร์เนีย พ่อค้าและนักเดินทางชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับอนุญาตจากจักรพรรดิโอรังเซบแห่งจักรวรรดิโมกุล ให้เข้าชมกรุอัญมณีส่วนพระองค์ ระบุว่านายฮอร์เทนซิโอ บอร์จิโอ ช่างเจียระไนทำงานพลาด เพชรจึงมีขนาดลงลงอย่างมาก
แต่เขาชี้ว่าเพชรเม็ดนั้นคือยอดเพชรแห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งจักรพรรดิชาห์จาฮานแห่งราชวงศ์โมกุลทรงได้รับเป็นของกำนัลจากพ่อค้าเพชรนามว่ามิวร์ จุมลา
นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า ยอดเพชรแห่งราชวงศ์โมกุลคือเพชรออลอฟ ซึ่งทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งในคลังสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดินีแคเธอรีนแห่งจักรวรรดิรัสเซียที่อยู่ในพระราชวังเครมลิน
ในบันทึกเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า ในปี 1852 ณกรุงอัมสเตอร์ดัม ภายใต้การกำกับของเจ้าชายอัลเบิร์ตและผู้เชี่ยวชาญทางอัญมณี เจมส์ เทนแนนท์ ได้ทำการเจียระไนโคอินัวร์จากขนาดดั้งเดิมที่ 186 1/6 กะรัต (หนัก 37.21 กรัม) ให้เหลือเพียงขนาดปัจจุบันที่ 105.602 กะรัต (21.61 กรัม) เพื่อเพิ่มการสะท้อนแสง ซึ่งพระองค์ได้ทรงตัดสินพระทัยอย่างกล้ำกลืนภายหลังจากทรงหารือกับผู้เชี่ยวชาญแล้ว ด้วยมูลค่าการเจียระไนประมาณ 8,000 ปอนด์ ซึ่งได้ลดขนาดของเพชรนี้ลงถึง 42% แต่ถึงกระนั้นทรงไม่พอพระทัยผลงานที่ได้ จากนั้นได้นำโคอินัวร์ไปประดับบนมงกุฎที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมักทรงอยู่บ่อยๆ ซึ่งขณะนั้นได้เก็บรักษาไว้ที่พระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งปกติแล้วเครื่องราชกกุธภัณฑ์จะต้องเก็บรักษาที่หอคอยแห่งลอนดอนเท่านั้น
ภายหลังจากที่ทรงเสด็จสวรรคตแล้ว ในรัชกาลถัดมาสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราทรงให้ย้ายโคอินัวร์มาประดับบนมงกุฏองค์ใหม่ของพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระสวามีซึ่งในขณะนั้นสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราทรงเป็นพระราชินี (ฐานะพระอัครมเหสี) พระองค์แรกที่ทรงมงกุฏประดับเพชร ซึ่งได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมาในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีแมรีและต่อมาสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี
ซอราฟ แดตต์ นักเขียนชาวอังกฤษ-อินเดียและนักวิจารณ์การเมือง กล่าวกับนิตสารไทมส์ว่า โอกาสที่สหราชอาณาจักรจะคืนอัญมณีนี้มีน้อยมาก แต่การรับรู้ถึงความจริงในการได้เพชรโคอินัวร์ด้วยการลักลอบหรือการหลอกลวง จะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานให้กับคนรุ่นใหม่
อย่างน้อยที่สุด กษัตริย์ชาร์ลสที่ 3 จะต้องยอมรับในประวัติศาสตร์สีดำของเพชรโคอินัวร์เม็ดนี้