‘ไอเอ็มเอฟ’ เล็งตั้งกองทุนฉุกเฉิน ช่วยประเทศวิกฤติด้านอาหาร
สำนักข่าวซีเอ็นเอรายงาน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.ย.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยืนยันเดินหน้าขยายวงเงินฉุกเฉิน สำหรับประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น จากสงครามและเงินเฟ้อ โดยมี 20-30 ประเทศ ที่ต้องการเงินช่วยเหลือเร่งด่วน
คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนยินดีกับข้อเสนอ ‘food shock window’ จากที่ประชุมในวันจันทร์ (12 ก.ย.) และคาดว่าจะอนุมัติเบิกจ่ายกองทุนเร็ว ๆ นี้ หลังประชุมในเดือน ต.ค.
ภายใต้แผนดังกล่าว ไอเอ็มเอฟ สามารถเพิ่มหรือไม่กำหนดเงื่อนไขในวงเงินฉุกเฉินนี้ก็ได้ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่เผชิญกับวิกฤติทางด้านอาหารจากสงครามยูเครน และวิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งแผนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศผู้นำเข้าอาหารที่มีรายได้ต่ำและใช้ต้นทุนสูง หรือประเทศอื่น ๆ อย่างยูเครนที่การส่งออกถูกระงับจากสงคราม
นอกจากนี้ จอร์เจียวา ยังเผยด้วยว่า มีประมาณ 50 ประเทศที่มีสิทธิ์ได้เงินช่วยเหลือ และ 20-30 ประเทศในนั้น มีความจำเป็นใช้เงินเร่งด่วน
ด้านเจอร์รี ไรซ์ โฆษกไอเอ็มเอฟ รายงานว่า กองทุนเตรียมเงินช่วยเหลือไว้ 27,000 ล้านดอลลาร์สำหรับปล่อยกู้ให้ 57 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งสมาชิกไอเอ็มเอฟสามารถกู้ยืมได้เพิ่มขึ้น 50% ของโควต้าที่กำหนดภายใต้กองทุน RFI และ RCI
ทั้งนี้ ราคาอาหารแพงเกิดจากภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงทั่วโลก หลังสงครามยูเครนเริ่มต้น ส่งผลกระทบซัพพลายอาหารและเกิดข้อจำกัดทางการค้า จากนั้นสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ทำข้อตกลงส่งออกอาหารจากยูเครนได้ จึงช่วยคลี่คลายการค้าและทำให้ราคาอาหารลดลงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน