ทำความรู้จัก "เครือจักรภพ" ที่มี "กษัตริย์อังกฤษ" เป็นสัญลักษณ์
เปิดที่มา “เครือจักรภพแห่งประชาชาติ” (Commonwealth of Nations) หรือ “เครือจักรภพ” ที่มี “กษัตริย์อังกฤษ” ทรงเป็นสัญลักษณ์ และถือกำเนิดมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 พร้อมดูท่าทีประเทศสมาชิกหลังการสวรรคตของ "ควีนเอลิซาเบธที่ 2" ว่าจะยังคงเหนียวแน่น หรือเตรียมตีจาก?
“เครือจักรภพแห่งประชาชาติ” (Commonwealth of Nations) เดิมมีชื่อว่า “เครือจักรภพบริเตน” (British Commonwealth) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เครือจักรภพ” เป็นองค์กรระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล ประกอบด้วย 56 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ แอนทีกาและบาร์บิวดา ออสเตรเลีย บาฮามาส บังกลาเทศ บาร์เบโดส เบลีซ บอตสวานา บรูไน แคเมอรูน แคนาดา ไซปรัส ดอมินีกา เอสวาตินี ฟีจี กาบอง แกมเบีย กานา เกรเนดา กายอานา อินเดีย จาเมกา เคนยา คิริบาส เลโซโท มาลาวี มาเลเซีย มัลดีฟส์ มอลตา มอริเชียส โมซัมบิก นามิเบีย นาอูรู นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี รวันดา เซนต์คิตส์ และเนวิส เซนต์ลูเชีย เซนต์วินเซนต์ และเกรนาดีนส์ ซามัว เซเชลส์ เซียร์ราลีโอน สิงคโปร์ หมู่เกาะโซโลมอน แอฟริกาใต้ ศรีลังกา แทนซาเนีย โตโก ตองกา ตรินิแดดและโตเบโก ตูวาลู ยูกันดา สหราชอาณาจักร วานูอาตู และ แซมเบีย ทำให้เครือจักรภพมีประชากรรวมกันกว่า 2,500 ล้านคน และมีมูลค่า GDP ของประเทศเครือจักรภพในปี 2564 รวมอยู่ที่ 13.1 ล้านล้านดอลลาร์
เครือจักรภพมีต้นกำเนิดขึ้นเมื่อมีปฏิญญาลอนดอน ในปี 2492 ส่วนใหญ่เป็นอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิบริเตน แต่บางประเทศสมัครเข้ารวมเครือจักรภพเองโดยความสมัครใจ ทั้งที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมหรือมีความเกี่ยวข้องทางรัฐธรรมนูญมาก่อน คือ โมซัมบิก รวันดา และกาบอง ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2538 และ 2552 ตามลำดับ ส่วน 2 ประเทศล่าสุดที่พึ่งเข้าเป็นสมาชิกในปีนี้ คือ กาบอง และ โตโก ซึ่งไม่เคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิบริเตนเช่นกัน
เครือจักรภพมีการดำเนินงานโดยยึดหลักฉันทามติของชาติสมาชิกจากที่ประชุม ดำเนินงานโดยสำนักเลขาธิการเครือจักรภพ ปัจจุบันมี แพทริเซีย สกอตแลนด์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการเครือจักรภพ โดยมีกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเป็นประมุขของเครือจักรภพเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร
อย่างไรก็ตาม ชาติสมาชิกเครือจักรภพต่างไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายใดๆ ระหว่างกัน มีเพียงหลักการในด้านต่างๆ ที่จะปฏิบัติร่วมกันคือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการพูด และนิติธรรม พร้อมทั้งการแบ่งปันเป้าหมายด้านการพัฒนา ประชาธิปไตย และสันติภาพ ตามที่ทุกชาติสมาชิกต่างได้ลงนามไว้ในกฎบัตรเครือจักรภพ (Commonwealth Charter)
นอกจากนี้ เครือจักรภพแห่งประชาชาติ ยังจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อสร้างความสามัคคีในกลุ่มประเทศสมาชิกในชื่อว่า “Commonwealth Games” ขึ้นทุก 4 ปีเช่นเดียวกับกีฬาโอลิมปิก โดยครั้งล่าสุดพึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค. - 8 ส.ค. 2565 ณ เมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร
หลังจากนั้น ยังมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มเครือจักรภพ หรือ CHOGM (Commonwealth Heads of Government Meeting) ทุก 2 ปี เพื่อหาทางออก เสนอวิธีแก้ไข หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประเทศสมาชิก สำหรับการประชุมครั้งล่าสุดนั้นจัดขึ้นที่กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา เมื่อวันที่ 21-23 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ราชอาณาจักรเครือจักรภพ (Commonwealth Realm)
แม้ว่าเครือจักรภพแห่งประชาชาติจะมีกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร แต่ไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรจะเป็นประมุขในทุกประเทศสมาชิก เพราะ 36 ชาติสมาชิกมีสถานะเป็นสาธารณรัฐ และอีก 5 ชาติสมาชิกมีราชวงศ์เป็นของตนเอง
ดังนั้นจะมีเพียง 15 ชาติเท่านั้นที่มีกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุข ซึ่งจะเรียกกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่า “ราชอาณาจักรเครือจักรภพ” ประกอบไปด้วย แอนทีกาและบาร์บิวดา ออสเตรเลีย บาฮามาส เบลีซ แคนาดา เกรเนดา จาเมกา นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี เซนต์คิตส์ และเนวิส เซนต์ลูเชีย เซนต์วินเซนต์ และเกรนาดีนส์ หมู่เกาะโซโลมอน ตูวาลู และสหราชอาณาจักร ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรด้วยกันทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงแต่สหราชอาณาจักร และปาปัวนิวกินีที่เคยเป็นอาณานิคมของออสเตรเลีย
ตามพระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ พ.ศ.2474 พระราชบัญญัติแห่งสหราชอาณาจักรที่กำหนดหลักการความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรเครือจักรภพกับพระมหากษัตริย์ (The Crown) ระบุว่า ประเทศในเครือจักรภพที่มีความสามารถในการปกครองตนเองระดับหนึ่งสามารถมีเอกราชทางนิติบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์จากสหราชอาณาจักร ธรรมนูญนี้จึงเป็นการถอดถอนอำนาจแทบทั้งหมดของรัฐสภาสหราชอาณาจักรในการตรากฎหมายสำหรับประเทศในเครือจักรภพ มีผลทำให้ประเทศเหล่านี้มีเอกราชเป็นของตนเองโดยปริยาย
ท่าทีสมาชิกบางส่วนหลังควีนอังกฤษสวรรคต
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศในราชอาณาจักรเครือจักรภพนั้นจะมีนายกรัฐมนตรีของตนเอง ทำหน้าที่บริหารประเทศ และแต่ละประเทศ (ยกเว้นสหราชอาณาจักร) ยังต้องมี “ผู้สำเร็จราชการ” ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรอีกด้วย โดยภายหลังจากที่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต แต่ละประเทศในราชอาณาจักรเครือจักรภพจะต้องลงนามในคำประกาศรับรอง กษัตริย์ประองค์ใหม่ ซึ่งในที่นี้คือ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นประมุขพระองค์ใหม่แห่งเครือจักรภพ
การเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายจับตาดู 14 ประเทศที่เหลือในราชอาณาจักรเครือจักรภพว่าจะแสดงท่าทีอย่างไรเกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) หลังจากที่ปีที่แล้วบาร์เบโดส อดีตประเทศสมาชิกประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ
เริ่มกันที่ ฟิลิป เดวิส นายกรัฐมนตรีของบาฮามาส กล่าวว่า ในตอนนี้ ฝ่ายบริหารยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้ ท้ายที่สุดแล้วจะต้องขึ้นอยู่กับประชามติ ว่าเสียงของประชาชนไปในทิศทางใด
ขณะที่ แกสตัน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของแอนติกาและบาร์บูดา ระบุว่า จะทำประชามติว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ ภายใน 3 ปีนับจากนี้
“นี่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเป็นเอกราช เพื่อให้แน่ใจว่าเราเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง” บราวน์ กล่าวสรุป
เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาอื่นๆ ที่พร้อมจะเดินหน้าสู่ระบอบสาธารณรัฐ แอนดรูว์ โฮลเนส นายกรัฐมนตรีจาเมกา กล่าวกับ เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ขณะที่เยือนจาเมกาเมื่อ มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ประเทศของเขาพร้อมที่ก้าวเป็นสาธารณรัฐแล้ว โดยหนังสือพิมพ์ Independent รายงานว่าขณะนี้รัฐบาลจาเมกาได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำหรับเริ่มกระบวนการเปลี่ยนไปสู่สาธารณรัฐแล้ว
ส่วน เฮนรี ชาร์ลส อัชเชอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและการเมืองของเบลีซ บอกกับรัฐสภาว่า “บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่เบลีซจะต้องก้าวไประดับเพื่ออิสรภาพที่แท้จริง แต่ชาวเบลีซทุกคนต้องร่วมกันตัดสินใจ”
ทาฮิรา คาร์เตอร์ เลขาธิการสำนักข่าวในสำนักนายกรัฐมนตรีเกรเนดา ระบุว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนจะเปลี่ยนระบอบการปกครองในตอนนี้ แต่ยอมรับว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า แม้จะมีการโต้เถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตลอดเวลาหลายปี แต่จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน ซึ่งเธอคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเกิดขึ้นภายในช่วงชีวิตของเธอ
เช่นเดียวกับการให้สัมภาษณ์ของ แอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า เรื่องการเปลี่ยนระบอบการปกครองไม่ได้อยู่ในวาระสำคัญของรัฐบาลของเขา แต่ไม่ปฏิเสธว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
ด้าน จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ทวีตผ่านบัญชีส่วนตัวว่า “ในขณะที่เรายังคงไว้อาลัยต่อการจากไปสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของแคนาดา และเรามองไปยังอนาคตด้วยการประกาศรับตำแหน่งกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นเป็นกษัตริย์ของแคนาดา”
ขณะที่ เจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีของปาปัวนิวกินี กล่าวในพิธีไว้อาลัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ว่า “เราทุกคนมารวมตัวกันที่นี่เพื่อรับทราบการจากไปของพระองค์ และเป็นสักขีพยานในการเสด็จขึ้นครองบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” ไม่ต่างจาก ซาวาลี อามาโซเน ฟาโตกา รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีตูวาลู ที่ระบุว่าจะยังคงมีพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นประมุขต่อไป
สุดท้ายแล้ว จนถึงขณะนี้ ทั้ง 14 ประเทศยังคงราชอาณาจักรเครือจักรภพที่มีสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นประมุข ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีกี่ประเทศที่ออกไปเป็นสาธารณรัฐ เสียงของประชาชนเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้
ที่มา: BBC, Bloomberg, Royal, The Common Wealth
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์