“ดอน” เสนอเวที FPGH ปฏิรูปสาธารณสุขระหว่างประเทศ รับมือภัยคุกคามใหม่
“รองนายกฯดอน” ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative เป็นเวทีคู่ขนานในช่วงการประชุม UNGA สมัยที่ 77 ชี้ในช่วงมีการแพร่ระบาดโควิด-29 ทำให้เห็นว่า ต้องปฏิรูปโครงสร้างสาธารณสุขระหว่างประเทศ รับมือภัยคุกคามแบบใหม่
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม Foreign Policy and Global Health (FPGH) Initiative จัดโดยเซเนกัล ในฐานะประธานกลุ่ม FPGH ณคณะผู้แทนถาวรเซเนกัล ณ นครนิวยอร์ก โดยเซเนกัลดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯ ตั้งแต่ต้นปี 2565
การประชุมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มฯ ในประเด็นสำคัญด้านสาธารณสุข ได้แก่ 1.การปฏิรูปโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
2. การส่งเสริมความต่อเนื่องของบริการด้านสุขภาพ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลัง COVID-19
3. ข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดช่องว่างด้านสาธารณสุข และเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน และ 4.หารือเกี่ยวกับร่างข้อมติของกลุ่มฯ ที่จะเสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 77
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขฯ ต้องได้รับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการทำงาน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านสุขภาพที่เกิดใหม่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึง 3 มิติหลัก ดังนี้
1. มิติด้าน "ความเท่าเทียมกัน" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูระบบสาธารณสุขภายหลัง COVID-19 โดยเร่งบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมูลฐาน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนทุกคนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผ่านการให้บริการด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับ COVID-19 และด้านอื่นอย่างครอบคลุม “ความเท่าเทียมกัน” ยังหมายถึง การพัฒนาขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในการผลิตเทคโนโลยีทางการแพทย์รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพในการเป็นศูนย์การผลิตและการกระจายวัคซีนในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว
นอกจากนี้ ได้ย้ำความสำคัญของการลงทุนด้านสุขภาพ เพื่อส่งเสริมวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี และป้องกันปัญหาสุขภาพโดยเนิ่น ในการนี้ ประเทศไทยจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการนานาชาติในปี 2571 ที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของชีวิต : อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี แบ่งปันความเจริญรุ่งเรือง”เพื่อเน้นความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพและแสดงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการแพทย์ระดับโลกและจุดหมายการท่องเที่ยวชั้นนำเชิงการแพทย์
2.มิติด้าน "ความครอบคลุม" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกัน เตรียมพร้อม และรับมือกับการระบาดใหญ่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม พร้อมพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข อาสาสมัครชุมชน และอาสาสมัครที่เป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในบริเวณชายแดน อีกทั้งอบรมบุคลากรในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างนักระบาดวิทยาผ่านโครงการInternational Field Epidemiology Training Program (IFETP)
3. มิติด้าน “ความสอดคล้อง” ของการปฏิรูปฯ กับข้อริเริ่มอื่นด้านสาธารณสุข รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายและประเด็นสำคัญในลำดับต้นอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการจัดทำตราสารระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ภายใต้ WHO และการปรับแก้ไขข้อบทสำคัญของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. 2005
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมกลไก Universal Health and Preparedness Review (UHPR) ของ WHO เพื่อทบทวนจุดแข็ง-จุดอ่อนของระบบสาธารณสุขไทย พร้อมเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกกลุ่มฯ เข้าร่วมกลไกฯ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มฯ และกับประชาคมโลก
กลุ่ม FPGH ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยเป็นกรอบความร่วมมือที่เชื่อมโยงประเด็นด้านสาธารณสุขกับนโยบายต่างประเทศ ประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และไทย ทั้งนี้ กลุ่มFPGH ได้เสนอร่างข้อมติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เป็นประจำทุกปี โดยมีหัวข้อ/ประเด็นที่ต้องการผลักดันในด้านสาธารณสุขในแต่ละปี ซึ่งกำหนดโดยประธานกลุ่มฯ โดยในปีนี้ หัวข้อการดำเนินงานประจำปี 2565 ได้แก่“Strengthening consensus on global health in a Post-COVID-19 world: building a healthier world for all”