'ไทย' ชู 'เอเปค' โอกาสทองคลายวิกฤติอาหาร-พลังงาน
'ไทย' ชู'เอเปค'โอกาสทองคลายวิกฤติอาหาร-พลังงานขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติช่วงที่พยายามฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และเริ่มมองเห็นถึงความขัดแย้งใหม่ ๆ
โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ ในช่วงที่พยายามฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และเริ่มมองเห็นถึงความขัดแย้งใหม่ ๆ นอกเหนือจากความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การเผชิญหน้ากับวิกฤติด้านอาหาร พลังงาน และการเงิน
ประเด็นสำคัญในถ้อยแถลงของ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 77 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุชัดเจนว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก่อนถือเป็น “โอกาสแรกและโอกาสทอง”แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของวิกฤติยูเครนได้รวมตัวกัน ณ การประชุม 3 เวทีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หนึ่งในนั้นคือ การประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพและกำลังได้รับการทดสอบบทบาทผู้นำช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ใหญ่ระดับโลก
ดอน กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจในระหว่างการเข้าร่วมประชุมยูเอ็นว่า เดือน พ.ย. นี้ เป็นโอกาสทองของการแก้ไขปัญหาที่เป็นผลพวงจากวิกฤติยูเครน เพราะจะมีการจัดประชุม 3 เวที ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน การประชุมผู้นำจี 20 และการประชุมเอเปคซัมมิท ซึ่งจะมีผู้นำระดับสูงที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงเข้าร่วม
“เอเปค” พิสูจน์บทบาทผู้นำไทย
"เราอยากเชิญชวนประเทศมหาอำนาจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ขณะที่ไทยกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง จึงหวังว่าจะมีโอกาสต้อนรับเหล่าผู้นำเอเปคที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นเวทีหารือพูดคุย เปิดช่องให้ปัญหาเหล่านี้ได้มีโอกาสนำไปสู่สันติภาพได้บ้าง" รองนายกฯดอนกล่าว และเสริมว่า มหาอำนาจทั้งสหรัฐและจีน ต่างเป็นสมาชิกความร่วมมือเอเปค หวังว่าพวกเขาจะมากัน แต่จะมาหรือไม่มา ก็กลับไปสู่ประเด็นที่ว่า มีความพร้อมหรือติดขัดอะไร คงต้องใช้เวลาพิจารณาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในช่วงประสานกันตลอดเวลา
ดอน ย้ำว่า "โอกาสทองมีอยู่จริง" ในการพบปะกันระหว่างเขตเศรษฐกิจต่างๆ เพราะไม่เพียงแต่จะพูดถึงประเด็นความร่วมมือเอเปค แต่ยังพูดคุยในประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างกันเอง หรือปัญหาที่กระทบต่อภูมิภาค หรือสถานการณ์ที่มีส่วนเชื่อมโยงทั่วโลก
เชื่อมั่นพหุภาคี แก้ปัญหาสมดุล-ยั่งยืน
ปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยในการใช้ทุกโอกาสที่มี เชื่อมโยงกันในทุกมิติ และสร้างสมดุลในทุกแง่มุม โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของไทยต่อความร่วมมือระดับพหุภาคี หวังจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนยิ่งขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อย้อนกลับไปดูในถ้อยแถลงของดอน ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ ในระหว่างพยายามฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เรากำลังเห็นความขัดแย้งใหม่ ๆ นอกเหนือจากความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การเผชิญกับวิกฤติด้านอาหาร พลังงาน และการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงที่สุดต่อผู้ที่มีความเปราะบางมากที่สุด ได้แก่ ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (SIDS)
วิกฤติอาหารส่งผลกระทบต่อทุกคน ไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก ก็ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารสัตว์ ปุ๋ย และอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารโลกเหล่านี้เป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างไม่เท่าเทียมกัน
“ไทย”เสนอแผนสันติภาพเป็นประเทศแรก
“เราจะสามารถเร่งสร้างความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อเรามีความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางสาธารณสุขที่ดีขึ้น” ดอนระบุ และเสริมว่า คงไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะหยิบประเด็นยูเครนในถ้อยแถลงต่อยูเอ็น และยังนำเรื่องนี้พูดคุยต่อกับ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลกับประเทศไทย จริงแล้วไทยเป็นประเทศในกลุ่มแรกที่ให้ความสำคัญและนำเสนอข้อเรียกร้องแผนสันติภาพในยูเครน ซึ่งเป็นที่รับรู้ของทุกประเทศ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้หยิบยกเรื่องนี้พูดคุยในหลายเวทีว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้กระทบต่อนานาประเทศโดยเฉพาะประชาคมระหว่างประเทศที่ทำให้สินค้าแพง ขาดแคลนอาหาร เกิดวิกฤติเงินเฟ้อ ล้วนแต่จำเป็นต้องรับการพูดถึงและเอาใจใส่ไม่ใช่แค่พูดแต่เรื่องสงครามต่อสู้กัน ก็เพื่อให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลเอาใจใส่ และหาวิธีแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ยุติโดยเร็ว
โอกาสทองแก้วิกฤติยูเครน
นอกจากนี้ ดอน ได้หยิบยกสุภาษิตชาวตะวันออกเกี่ยวกับการขี่หลังสัตว์ในเชิงสันทนาการ ไม่ว่าสัตว์นั้นจะเป็นเสือหรือมังกรก็ตามว่า ผมขอใช้เสือเป็นตัวอย่างในบริบทนี้ การขี่หลังเสืออาจเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย แต่คงไม่มีใครที่อยากจะสนุกกับการขี่หลังเสือนั้นต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น คำถามที่อาจเกิดขึ้นในใจ คือ “เราจะลงจากหลังเสืออย่างไรให้แคล้วคลาด โดยไม่จำเป็นต้องฆ่าเสือตัวนั้น”
ในตอนท้ายดอนกล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีเพื่อนรอบโลก เกือบจะไม่มีใครปฏิเสธความสัมพันธ์ ทั้งติดต่อค้าขาย ลงทุน ท่องเที่ยว ซึ่งไทยเชื่อมั่นในความร่วมมือระบบพหุภาคี จึงหวังว่า เหล่ามหาอำนาจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด จะไม่ปล่อยให้โอกาสทองในการแก้ไขปัญหาวิกฤติยูเครนครั้งนี้ผ่านไป