ยานสำรวจดาวอังคารอินเดียสัญญาณขาดหายสิ้นสุดภารกิจ 8 ปี

ยานสำรวจดาวอังคารอินเดียสัญญาณขาดหายสิ้นสุดภารกิจ 8 ปี

องค์การวิจัยอวกาศอินเดียเผย ยานโคจรรอบดาวอังคาร “มังคลายาน” อาจถึงจุดสิ้นสุดภารกิจหลังจากโคจรรอบดาวอังคารมานานแปดปี

เว็บไซต์ space.com รายงาน สถานีภาคพื้นดินขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ติดต่อมังคลายานไม่ได้ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พลังงานขับเคลื่อนอาจหมด แบตเตอรี่ยานอาจแห้งเกินขีดปฏิบัติการได้อย่างปลอดภัย หรือระบบอัตโนมัติอาจตัดการสื่อสาร

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ISRO แถลงเมื่อวันจันทร์ (3 ต.ค.) ว่า แม้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้หกเดือนในฐานะตัวสาธิตเทคโนโลยี แต่มังคลายานอยู่ในวงโคจรดาวอังคารได้ถึงแปดปี ด้วยผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ แต่หลังจากเกิดสุริยุปราคาในเดือนเม.ย. ไม่มีแสงอาทิตย์ ยานจึงไม่มีพลังงานจนใช้การไม่ได้

ISRO กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของยาน เช่น การให้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของก๊าซหลายชนิดในบรรยากาศดาวอังคาร

มังคลายานถูกปล่อยยิงเมื่อปี 2556 ก่อนเข้าสู่วงโคจรดาวอังคารในปีต่อมา ยานลำนี้ทำให้อินเดียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้ไปโคจรรอบดาวอังคาร เพิ่มเติมจากรัสเซีย สหรัฐ และสหภาพยุโรป และเกิดขึ้นหกปีก่อนจีนปล่อยยานเทียนเหวิน-1 ที่มียานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารด้วย

ยานของอินเดียราคาเพียง 4.5 พันล้านรูปี (73 ล้านดอลลาร์) ไม่ถึงหนึ่งในหกของยานสำรวจนาซา 455 ล้านดอลลาร์ ที่สหรัฐเริ่มขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน

 

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กล่าวในภายหลังว่า ค่าใช้จ่ายของมังคลายานน้อยกว่า Gravity ภาพยนตร์ดังปี 2556 ที่ใช้ทุนสร้างราว 100 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำไป

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ อินเดียเร่งมือโครงการอวกาศ เช่น ภารกิจส่งมนุษย์อวกาศที่รัสเซียสนับสนุนเปิดตัวในปี 2566 หรือ 2567

ปี 2562 โมดี ชมเชยอินเดียว่าเป็น “มหาอำนาจอวกาศ” หลังปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำ ความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงวิจารณ์ว่าสร้าง “ขยะอวกาศ” ปีเดียวกันนั้นอินเดียถดถอยครั้งใหญ่เมื่อยานไร้มนุษย์ที่มีกำหนดลงจอดบนดวงจันทร์กลับไร้การติดต่อ

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า อินเดียสามารถทำโครงการต้นทุนต่ำได้ด้วยการคัดลอก และดัดแปลงเทคโนโลยีที่มีอยู่ตามความต้องการของตนเอง ประกอบกับการมีวิศวกรทักษะสูงจำนวนมากที่ได้ค่าแรงเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับค่าจ้างวิศวกรต่างชาติ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์