เปิดบันทึกโศกนาฏกรรมจาก 'อาวุธปืน' ในประเทศไทย
โศกนาฎกรรมอดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้เรื่อง "อาวุธปืน" กลายเป็นประเด็นที่โลกให้ความสนใจ และพบว่าประเทศไทยติดกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก
องค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา (เอสเอเอส) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ในระดับสากล ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 50 ในแง่ของการครอบครองปืนของพลเรือนต่อหัว เมื่อเทียบกับสหรัฐ ที่มีสัดส่วนของพลเรือนที่ครอบครองปืน 120 กระบอกต่อประชากร 100 คน และไม่มีประเทศใดที่จำนวนปืนที่อยู่ในความครอบครองของพลเรือนมากกว่าจำนวนประชากร ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนปืน 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คน
แต่ถ้าพิจารณาในระดับภูมิภาคอาเซียน การครอบครองอาวุธปืนถูกกฎหมายในประเทศไทยค่อนข้างอยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยปืนที่พลเรือนในไทยถือครองและจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย มีจำนวนกว่า 10.3 ล้านกระบอก หรือเฉลี่ย 15 กระบอกต่อประชากรทุก 100 คน แต่มีปืนเถื่อนอีก 6.2 ล้านกระบอก
ขณะที่สถาบันเพื่อการวัดและประเมินสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) หรือไอเอชเอ็มอี ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน รายงานผลวิจัยเรื่องภาระโรคของโลก (global burden of disease) เมื่อปี 2562 ว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน โดยเป็นรองจากฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน
ส่วนเว็บไซต์ World Population Review เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลกประจำปี 2565 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 มีผู้เสียชีวิต 2,804 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน
5 อันดับแรกของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ได้แก่
- อันดับที่ 1 บราซิล จำนวนกว่า 49,437 คน
- อันดับ 2 สหรัฐ จำนวน 37,040 คน
- อันดับ 3 เม็กซิโก จำนวน 22,118 คน
- อันดับ 4 อินเดีย จำนวน 14,712 คน
- อันดับ 5 โคลอมเบีย จำนวน 13,171 คน
ส่วนอันดับในอาเซียน ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นอันดับ 1 ในฐานะประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุด โดยมีจำนวน 9,267 คน