อ่าน ‘ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา’ รับการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
สัปดาห์นี้สื่อต่างประเทศเบรกอารมณ์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาจับตาการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 ต.ค. ประจวบเหมาะกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วคอข่าวต่างประเทศควรอ่านหนังสือเล่มไหนดีให้สอดรับกับสถานการณ์
“ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา” โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ และ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ เป็นหนังสือน่าอ่านสำหรับช่วงนี้ โกวิท เป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนตำราด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์หลายเล่ม ส่วนวาสนา เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีนและจีนโพ้นทะเล เจอหน้าวาสนาในงานมหกรรมหนังสือ คำถามแรกที่ถามคือ ทำไมต้องอ่าน "ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา" ก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้คำตอบว่า หนังสือเล่มนี้เล่ามาถึงเมื่อจีนเกิดโควิด-19 ซึ่งจะเห็นจุดเปลี่ยนนโยบายที่จีนเคยใช้มาตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยวผิง
ไล่ดูสารบัญคร่าวๆ บทที่ 1 บอกชัด ทำไมต้อง“หลังเหมา” บทนี้บอกถึงประวัติศาสตร์เชิงอุดมการณ์ที่ยังคลุมเครือแม้ในยุคหลังเหมา รวมถึงโครงสร้าง เนื้อหา การนำเสนอ บทที่ 2- 4 รวบรวมเหตุการณ์สำคัญทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมา อาทิ นโยบายสี่ทันสมัยกับการปฏิรูปและเปิดประเทศ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) การเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศนอกกลุ่มสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และการเปลี่ยนข้างในสงครามเย็น
ที่คนไทยน่าจะสนใจมากคือเนื้อหาส่วนของการเดินทางมาเยือนไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในฐานะผู้นำสูงสุดของเติ้ง เสี่ยวผิง วาสนาเคยให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564
“ปี 1978 เติ้ง เสี่ยวผิงเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศเป็นครั้งแรก มาเข้าเฝ้าในหลวง ร.9 พระราชินี สมเด็จพระเทพฯ เป็น first stop ระหว่างทริปที่มาสองสัปดาห์ก็เข้าร่วมพระราชพิธีผนวชของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วยซึ่งนี่คือ statement ที่แรงมากว่า เติ้ง เสี่ยวผิงไม่ล้มเจ้า เติ้ง เสี่ยวผิงไม่มีปัญหากับพุทธศาสนามางานบวชได้ และเติ้งเสี่ยวผิงก็บอกด้วยว่า เราไม่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว นำไปสู่การล่มสลายของคนที่เข้าป่า”
เนื้อหาส่วนนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ พร้อมรายละเอียดอื่นๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อจีนมาทุกยุคทุกสมัย
ส่วนคนที่สนใจฮ่องกง เนื้อหาการเจรจากับสหราชอาณาจักรเพื่อรับฮ่องกงคืนสู่จีนและการส่งมอบฮ่องกงคืนสู่จีน ปรากฏอยู่ในบทที่ 2 และ 3 แน่นอนว่าการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.1989 เป็นประวัติศาสตร์จีนที่จะไม่ถูกพูดถึงไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ที่ฮิตๆ กันสมัยนี้ รู้ไหมว่า จีนเขาทำมาตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันขงจื่อที่ถือเป็นการเปิดฉากรุกครั้งสำคัญในแนวรบด้านวัฒนธรรมโลก โอลิมปิกที่ปักกิ่งปี 2008 ที่สนามกีฬารังนกยังถูกพูดถึงจนทุกวันนี้ และเวิลด์เอ็กซ์โปที่เซี่ยงไฮ้ปี 2010 ที่เปลี่ยนโฉมหน้ามหานครเซี่ยงไฮ้ไปเลย
บทที่ 4 กล่าวถึงยุคสมัยของสี จิ้นผิง ตั้งแต่ปี 2013 โดยเฉพาะ ไฮไลต์ทุกอย่างมาหมดตั้งแต่ Belt and Road Initiative : BRI โครงการที่เป็นซิกเนเจอร์ของสี กรณีพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้ กับดักหนี้และการทุจริตคอรัปชั่น ข้อครหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์อุยกูร์ในซินเจียง และวิกฤติโควิด-19
แล้วนักอ่านวัยรุ่นจะอ่านอะไร? นี่เลย... พันธมิตรชานม เนื้อหาสุดท้ายของบทที่ 4 แต่ก่อนหน้านั้นหนังสือเล่าถึงพัฒนาการของหนึ่งประเทศสองระบบ: ความสัมพันธ์กับไต้หวันและฮ่องกงปูพื้นไว้ในบทที่ 2 แล้ว
อย่างที่วาสนาบอกแล้วว่า “ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา” กล่าวถึงจุดเปลี่ยนของนโยบายจีน เจ้าตัวสรุปให้ฟังสั้นๆ
“จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง คือเปิดออกไป ต้องการส่งเสริมการลงทุน ต้องการให้การส่งออกและเศรษฐกิจที่ข้องเกี่ยวกับตลาดโลกเป็นตัว drive เศรษฐกิจจีน แต่พอถึงยุคสี จิ้นผิงมีโควิด-19 เข้ามามีแนวโน้มปิดประเทศ เอา dual circulation กลับเข้ามา ให้วงจรเศรษฐกิจภายในประเทศกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญแทน แนวโน้มของสี จิ้นผิงคือนำไปสู่การปิดประเทศ”
หนังสือความยาว (นับเฉพาะเนื้อหา) 255 หน้า ถือว่าอ่านได้เพลินๆ หากไม่เร่งไม่รีบอ่านพร้อมๆ กับการประชุมพรรคเจ็ดวันจบได้สบายๆ ช่วยเป็นข้อมูลให้พอคาดการณ์ได้ว่า จีนยุคสี จิ้นผิง สมัย 3 จะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไปแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง