เปิด 3 ทางออก ‘ลิซ ทรัสส์’ พ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรค
นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ของอังกฤษที่ถูกปัญหารุมกระหน่ำใกล้ถึงจุดจบ หลังรับหน้าที่ได้เพียง 6 สัปดาห์ เมื่อ ส.ส.พรรคตนเองเรียกร้องให้ลาออก และเคลื่อนไหวเตรียมโค่นเธอ
สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมทางเลือกที่ทรัสส์จะพ้นจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่เพิ่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมสืบต่อจากบอริส จอห์นสัน เมื่อต้นเดือน ก.ย. โดยมี 3 ทางที่เป็นไปได้ดังต่อไปนี้
1. ลาออก
ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมกว่า 12 คน เรียกร้องเปิดเผยให้เธอลาออก หลังคว่ำนโยบายเศรษฐกิจของเธอเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
หลายคนบอกผู้สื่อข่าวว่า การดำรงตำแหน่งของเธอสิ้นสุดลงมีผลแล้ว รัฐมนตรีคนสนิทของทรัสส์คนหนึ่งบอกกับเดอะไทม์สว่า สถานการณ์ถึง “ปลายทาง” แล้ว
หลังการตัดสินใจปลดรัฐมนตรีคลังเมื่อสัปดาห์ก่อน และเหตุการณ์อื้อฉาวเมื่อวันพุธ (19 ต.ค.) จนรัฐมนตรีมหาดไทยต้องลาออก และ ส.ส.กบฏโหวตในสภา ทรัสส์อาจตัดสินใจได้ว่าถึงเวลาต้องลง โดยเธอยังเป็นนายกฯ ต่อไปจนกว่าหาคนมาสืบต่อได้ นั่นอาจมีการเลือกผู้นำพรรคอนุรักษนิยมอีกครั้งในเวลาไม่ถึงสองเดือน
แต่พรรคอาจเลี่ยงกระบวนการต่อสู้อันยาวนานและแตกแยกได้โดยการรวบรวมคู่แข่งให้เหลือคนเดียว แล้วเลือกให้เป็นผู้นำพรรค อย่างเทเรซา เมย์ ขึ้นมาแทนอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ในปี 2559 ท่ามกลางความเสียหายจากการลงประชามติ หลังจากผู้สมัครคนอื่นๆ ค่อยๆ ถอนตัว
อย่างไรก็ตาม ทรัสส์ไม่ส่งสัญญาณยินดีลาออก โดยแถลงกับสภาเมื่อวันพุธว่า เธอไม่ใช่ “คนขี้แพ้”
2. ลงมติไม่ไว้วางใจ
ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมอาจพยายามบีบให้ทรัสส์พ้นจากตำแหน่ง แต่จำต้องให้ ส.ส.357 คนของพรรคที่แตกแยกกันอย่างหนักอนุมัติมาตรการที่ไม่เคยทำมาก่อน
พรรคมีกฎป้องกันไม่ให้หัวหน้าพรรคคนใหม่โดนเพื่อนๆ ลงมติไม่ไว้วางใจในปีแรก เพราะหนึ่งปีลงมติไม่ไว้วางใจได้แค่หนึ่งครั้งเท่านั้น
นอกจากนี้ยังต้องได้เสียง 15% จากสมาชิกในสภา ปัจจุบันคือ 54 ส.ส.สนับสนุนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค แต่คณะกรรมการ 1922 ผู้ทรงอำนาจของพรรคซึ่งทำหน้าที่กำหนดระเบียบภายในพรรค อาจเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนกฎเปิดช่องให้ลงมติไม่ไว้วางใจทรัสส์ได้
สื่อรายงานว่า ส.ส.สนับสนุน 54 คนแล้ว และคณะกรรมการกำลังพิจารณาเปลี่ยนกฎ หากส.ส.เรียกร้องให้ลงมติมีสัดส่วนมากพอ ถ้าทรัสส์แพ้โหวตก็ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป แต่ยังเป็นนายกฯ จนกว่าจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่
จากนั้นคณะกรรมการ 1922 จำเป็นต้องเห็นชอบในกฎสำหรับเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จะเป็นคนที่ 3 ของปีนี้และคนที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2559
รายงานข่าวชี้ว่า ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมไม่ต้องการการแข่งขันยืดเยื้อตัดสินโดยลำดับสมาชิกพรรค ดังนั้น พวกเขาอาจพยายามรณรงค์ให้มีผู้สมัครคนเดียว แต่พรรคก็แตกแยกกันอย่างหนัก
3. เลือกตั้งทั่วไป
การเลือกตั้งครั้งต่อไปของอังกฤษมีกำหนดช้าสุดภายใน ม.ค.2568 โดยรัฐบาลสามารถตัดสินใจว่าจะจัดเลือกตั้งก่อนหน้านั้นหรือไม่และเมื่อใด แต่รัฐบาลทรัสส์ต้องรักษาเสียงข้างมากของ ส.ส.ไว้ให้ได้
ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอังกฤษ มี 3 วิธีในการแสดงว่า ส.ส.หมดศรัทธาแล้ว ซึ่งรวมถึงการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ หรือการลงมติคว่ำร่างงบประมาณของรัฐบาล
ในฉากทัศน์เช่นนั้น คาดว่านายกฯ ถ้าไม่ลาออกก็ต้องกราบบังคมทูลกษัตริย์ให้ยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพรรคฝ่ายค้านใหญ่อย่างพรรคแรงงานมีคะแนนนำในโพลสูงสุดในรอบหลายสิบปี บางโพลชี้ว่าพรรคอนุรักษนิยมเตรียมสูญเสียหลายร้อยที่นั่ง
ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่จำนวน ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมที่จำเป็นต้องโหวตคว่ำรัฐบาลจะมาร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน