ข่าวดี ! นักวิจัยอังกฤษ รักษาผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง 411 วัน ได้สำเร็จ
สำนักข่าวแชแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า นักวิจัยอังกฤษได้รักษาผู้ป่วยชายติดเชื้อโควิด-19 เรื้อรังนานถึง 411 วัน ด้วยการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสในตัวชายคนนี้ เพื่อหาวิธีรักษาอย่างถูกต้อง และสามารถรักษาจนหายป่วยได้
ผลการศึกษาผู้ป่วยโควิด19เพศชาย วัย 59 ปี ที่เผยแพร่ผ่านวารสารคลินิกโรคติดเชื้อ โดยทีมวิจัยจากมูลนิธิทรัสต์กายส์แอนด์เซนต์โทมัสและวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน รายงานว่า ผู้ป่วยหายเป็นปกติแล้ว หลังรักษามา 13 เดือน
ชายคนนี้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการปลูกถ่ายไต ติดเชื้อโควิดเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และมีผลโควิดเป็นบวกต่อเนื่องมาจนถึง ม.ค. 2565 นักวิจัยใช้การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีนาโนพอร์ หาลำดับดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอภายใน 24 ชม.
ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อสายพันธุ์ B.1 ที่พบปลายปี 2563 นักวิจัยจึงรักษาด้วยการให้ยาแอนติบอดีแบบผสม ได้แก่ ยาคาซิริวิแมบและยาอิมดีวิแมบ ซึ่งเป็นยาใหม่ในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี
อย่างไรก็ดี ยาดังกล่าวสามารถรักษาผู้ป่วยรายนี้ได้ เนื่องจากชายคนนี้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แรก ๆ ของการแพร่ระบาด แต่ยาชนิดนี้ไม่สามารถต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้
อย่างไรก็ตาม ดร.สเนล กล่าวว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่มีความทนทานต่อยาด้านไวรัสทั้งหมดในอังกฤษ ในยุโรป และในสหรัฐแล้ว เนื่องจากทีมวิจัยเคยพยายามรักษาผู้ป่วยโควิดวิกฤตวัย 60 ปี ที่ติดเชื้อ 4 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค. ด้วยยาเหล่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องแบ่งใช้ยาต้านไวรัส 2 ครั้ง ด้วยยาแพ็กซ์โลวิดและเรมเดซิเวียร์ จนผู้ป่วยหายดี
ดร.สเนล ระบุว่า วิธีนี้อาจนับได้ว่าเป็นหนทางใหม่ในการรักษาไวรัสที่ทนทานต่อยาต้านไวรัสสูง
แต่โชคร้าย เมื่อเดือนเม.ย.สมาคมจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยโควิดติดเชื้อยาวนานที่สุด 505 วันเสียชีวิตแล้ว
ทั้งนี้ การติดเชื้อโควิดเรื้อรังนั้น แตกต่างจากอาการลองโควิด (Long COVID) และการติดโควิดซ้ำ ซึ่งโควิดเรื้อรังสามารถพบได้น้อยและเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ