ถกสัมพันธ์ไทยสู่โลกกับ‘เพนนี หว่อง’ รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย

ถกสัมพันธ์ไทยสู่โลกกับ‘เพนนี หว่อง’ รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย

ออสเตรเลียภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มีเพนนี หว่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถือว่าแข็งขันกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก สัปดาห์ก่อนเธอมาเยือนไทยในวาระสำคัญครบรอบความสัมพันธ์ 70 ปีไทย-ออสเตรเลีย

 ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกในอีกไม่กี่วัน การเสวนาของรัฐมนตรีหว่องที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 2 พ.ย. นำเสวนาโดยฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพนโยบายต่างประเทศออสเตรเลียต่อภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี  

*ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย

รัฐมนตรีหว่องกล่าวว่า ในฐานะรัฐบาลใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อเดือน พ.ค. ได้เข้าเกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากตั้งแต่นั้น รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในภาพรวมด้วยมองว่า ความมั่งคั่งและมั่นคงของออสเตรเลียอยู่ในภูมิภาคนี้ กล่าวโดยสรุป “เราอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน มีอนาคตร่วมกัน” นี่คือนโยบายต่างประเทศภายใต้การดูแลของเธอ 

สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศไทยที่ขณะนี้กลายเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันแล้ว ถือเป็นความภาคภูมิใจมาก  ความสัมพันธ์ทางการทูตกันมา 70 ปี สะท้อนถึงการยอมรับว่า ต่างฝ่ายต่างมีความสำคัญต่อความมั่งคั่งและมั่นคงของกันและกัน

รมว.หว่องได้พบกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามในแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ค.ศ.2022 - 2025 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการเยือนครั้งนี้

  “ดิฉันหวังว่า ความสัมพันธ์จะลึกซึ้งและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเราอยากจะทำงานด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะมียุทธศาสตร์ออกมาในไม่ช้า" 

สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำความสำคัญทางเศรษฐกิจที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีต่อออสเตรเลียคือ รัฐบาลแคนเบอร์ราจะแต่งตั้งทูตประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้ดูแลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้รัฐมนตรีหว่องยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สนับสนุนไทยต่อต้านการค้ามนุษย์ 

"ดิฉันหวังว่าเมื่อดิฉันกลับมาอีกครั้งเร็วๆ นี้อย่างที่ตั้งใจ จะได้เห็นความก้าวหน้าในหลายๆ ด้านและเราจะได้ร่วมมือกันมากขึ้น หวังว่าเราจะมีไดอะล็อกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ช่วงนี้เกิดความท้าทายมากมายในโลกและภูมิภาค ซึ่งมหาอำนาจขนาดกลางอย่างออสเตรเลียและไทย เราสามารถแบ่งปันวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าภูมิภาคแบบใดที่เราอยากอยู่ ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างหลักประกันถึงสันติภาพ ความมั่งคั่ง และมั่นคงร่วมกัน ภูมิภาคที่เคารพกฎหมายและปทัสถานระหว่างประเทศ"

*อาเซียนและเอเปคที่เปลี่ยนไป

เดือนนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค กลุ่มความร่วมมือที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 80 ซึ่งออสเตรเลียขับเคลื่อนเอเปคมาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความมั่งคั่ง เศรษฐกิจไทยโตระดับเลขสองหลัก  แต่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในเอเชียแปซิฟิก จุดเน้นเรื่องการค้าเสรีลดลง มีสามประเด็นสำคัญเกิดขึ้นรอบๆ อาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ 1) การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน 2) รัสเซียรุกรานยูเครน และ 3) รัฐประหารและสงครามกลางเมืองในเมียนมา ประเด็นเหล่านี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีความเห็นตรงกัน ความแตกแยกในประเด็นเหล่านี้บั่นทอนความเป็นกลางของอาเซียนมากขึ้น น่าสนใจว่า ออสเตรเลียยังจะมองว่า อาเซียนเป็นสะพาน, กันชน และคนกลางได้อีกหรือไม่เมื่อประเทศใหญ่เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น 

รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า การใช้คำว่า อาเซียนเป็นสะพาน, กันชน และคนกลาง เตือนใจถึงประวัติศาสตร์ของอาเซียนที่เป็นหนทางของการไกล่เกลี่ย อาเซียนไม่ได้เกี่ยวข้องกันแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังจัดการและประสาน ความแตกต่างทั้งภายในสมาชิกอาเซียนและภายนอกด้วย 

ประเด็นความแตกแยกที่กำลังท้าทายโลก ย่อมเป็นความท้าทายอาเซียนเช่นกัน อย่างเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ออสเตรเลียมองว่าเป็นการรุกรานอย่างผิดกฎหมายและจริยธรรม ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ 

"ในฐานะมหาอำนาจระดับกลางเรามีมุมมองชัดเจนว่า เราทุกคนได้รับการคุ้มครองโดยหลักการที่ว่า ชาติ ดินแดน อธิปไตยไม่ควรถูกบังคับ  เรามีมุมมองชัดเจนว่า ทุกชาติโดยเฉพาะชาติเล็กกว่ามีผลประโยชน์ที่จะต้องผลักดันการรุกรานของรัสเซีย ก็ด้วยหลักการที่เราผูกมัดนั้นคอยปกป้องเรา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องสนใจ"   

*ความสัมพันธ์‘สหรัฐ-จีน’

รัฐมนตรีหว่องมองว่า คนทุกรุ่นต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายที่สุด ขณะนี้โลกอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ มีทั้งความท้าทายจากโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ สองปีก่อนเธอเคยเขียนบทความลงนิตยสารนโยบายต่างประเทศ ว่าด้วยสภาพแวดล้อมอันท้าทายที่สุดที่ออสเตรเลียเผชิญตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แปลงโฉมทั้งระเบียบโลกและระเบียบในภูมิภาค สองปีผ่านไปสถานการณ์ยิ่งยากมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศต่างๆ ต้องลงมือทำ เชื่อมต่อ ทำงานร่วมกันทุกคนต้องการภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ สันติภาพ มั่งคั่ง เคารพอธิปไตยกันและกัน 

“ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่จากการเพิกเฉยแต่ต้องทำงานร่วมกัน ส่วนหนึ่งต้องใช้การทูต สร้างความสมดุล ไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งครองความเป็นเจ้า”

*สมดุลใหม่ของโลกที่เปลี่ยนไป  

รัฐมนตรีหว่องอธิบายว่า สมดุลใหม่ของโลกที่ปรับโฉมไปเป็นสมดุลอย่างมีพลวัตที่สามารถไตร่ตรองและประนีประนอมมุมมองที่แตกต่างกันได้มากพอสมควร  สิ่งที่ออสเตรเลียยึดถือคือ ภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม ให้ความสำคัญกับกฎหมายและปทัสถานระหว่างประเทศ 

“ออสเตรเลียมั่งคั่งโดยส่วนใหญ่เพราะเรามีระบบการค้าที่เปิดกว้างและคาดการณ์ได้ การคาดการณ์ได้สำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่งคั่งซึ่งก็มาจากการปฏิบัติตามปทัสถานระหว่างประเทศ” 

*ออสเตรเลียกับ Quad และ AUKUS

การเป็นสมาชิกกลุ่ม Quad และ AUKUS แสดงให้เห็นการทำงานของออสเตรเลียกับประเทศอื่นถึงโลกและภูมิภาคที่ออสเตรเลียอยากได้ เป็นทางเลือกว่าต้องการโลกและภูมิภาคแบบไหน 

รัฐมนตรีย้ำว่า AUKUS เป็นการแบ่งปันเทคโนโลยีและขีดความสามารถ เรื่องเรือดำน้ำนั้นเป็นสิ่งที่ต้องการหามาทดแทนของเดิม "ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศที่จะแข่งขันทางอาวุธในภูมิภาค"  ส่วน Quad ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นการทำงานด้าน public goods พร้อมๆ กับรักษาสมดุลในภูมิภาคที่มองว่าเป็นผลประโยชน์ของออสเตรเลียด้วย 

*สัมพันธ์ออสเตรเลีย-จีน

ออสเตรเลียเป็นประเทศค้าขาย ตอนนี้เจออุปสรรคทางการค้าในตลาดจีน ออสเตรเลียต้องการให้ทุกประเทศค้าขายกันบนกติกาพื้นฐานที่คาดการณ์ได้ ซึ่งสำคัญต่อความมั่งคั่งของทุกคน สถานการณ์จีนส่งผลต่อทุกประเทศอาเซียน ออสเตรเลียก็ต้องรับมือกับความท้าทายจากจีนเช่นกัน 

“การเติบโตด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของจีนคือความจริง เกี่ยวข้องกับผู้คนมหาศาล เป็นความสำเร็จสุดพิเศษ เราเรียกร้องต่อเนื่องให้จีนเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความรับผิดชอบ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเรา ดิฉันได้พบกับรัฐมนตรีหวัง อี้สองครั้งนับตั้งแต่เลือกตั้งออสเตรเลีย เราหวังว่าจะทำให้ความสัมพันธ์มีเสถียรภาพได้”

ขณะเดียวกันสหรัฐยังคงมีความสำคัญต่อความมั่งคั่ง มั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ ในฐานะพันธมิตร ออสเตรเลียสนับสนุนให้สหรัฐแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

*สถานการณ์เมียนมา

 “ดิฉันมาจากพรรคที่มีมุมมอง Stronger Together วิธีหนึ่งในการจัดการการแข่งขันกันของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้กระทำผ่านอาเซียน ยืนยันฉันทามติอาเซียนเรื่องความเป็นกลาง” รัฐมนตรีหว่องออกตัวก่อนเข้าสู่ประเด็นเมียนมาว่าออสเตรเลียก็เหมือนประเทศอื่นในภูมิภาคที่กังวลมากกับสถานการณ์ความมั่นคงที่เสื่อมถอยลงทุกวัน โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน แม้ออสเตรเลียไม่ได้เป็นเพื่อนบ้านเหมือนกับไทยแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอยู่ห่างๆ

“เรายังคงขอให้สมาชิกอาเซียนเดินหน้าเรียกร้องยุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือน เปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจริงๆ แล้วดิฉันเชื่อว่าไทยเชี่ยวชาญมากกว่าในเรื่องเมียนมาว่าควรทำอย่างไร ถ้าพิจารณาจากอดีตเมื่อเมียนมาเจอความปั่นป่วนต้องใช้เวลานานกว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น แต่ครั้งนี้หวังว่าจะไม่เป็นแบบนั้น ดิฉันหวังว่าอาเซียนจะทำงานร่วมกันไม่ให้เป็นแบบนั้น เพราะการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนมีมากเกินไปแล้ว”