ถอดรหัส "สี-คิชิดะ" พบกันครั้งแรกใน 3 ปี จุดเริ่ม "จีน-ญี่ปุ่น" ฟื้นสัมพันธ์
ผู้นำ “จีน” และ “ญี่ปุ่น” 2 เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของเอเชีย ใช้โอกาสพบปะกันนอกรอบการประชุมเอเปค 2022 ที่กรุงเทพฯ หารือฟื้นความสัมพันธ์ แม้บรรยากาศส่วนใหญ่ดูชื่นมื่น แต่ทั้งคู่ก็ยังมีความเห็นต่างกันในบางประเด็น
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น ได้มีโอกาสพบปะกันในการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ผู้นำจีนและญี่ปุ่นได้พบปะพูดคุยกัน
จากการหารือกันครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันถึงความตั้งใจที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ขณะที่ปธน.สีได้แสดงความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
“การพบกันในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การเจรจาในวันข้างหน้า เพื่อให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน” นายกฯคิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากที่ได้พูดคุยกับปธน.สีเป็นเวลา 45 นาที
- ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น พบปะกันครั้งแรกในรอบ 3 ปี ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.65 (เครดิตภาพ: AFP) -
การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นไปตามคำขอของญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าการสานสัมพันธ์โดยตรงกับปธน.สีนั้น มีความสำคัญต่อการลดความตึงเครียดระหว่างกันลงไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ดี มีรายงานจากเว็บไซต์นิคเกอิ เอเชียว่า การหารือระหว่างผู้นำจีนกับญี่ปุ่น ไม่ได้เห็นตรงกันในทุกเรื่อง โดยเฉพาะประเด็น “ไต้หวัน”
ในช่วงเปิดการประชุมสุดยอดทวิภาคี นายกฯคิชิดะ กล่าวว่า ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างมีความรับผิดชอบในการรับประกันความมั่นคงและสันติภาพของภูมิภาคนี้ และประชาคมระหว่างประเทศในวงกว้าง
จากนั้น ผู้นำญี่ปุ่นบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขาได้เน้นย้ำกับปธน.สี เรื่องความสำคัญด้านสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน แต่ปฏิเสธที่จะลงรายละเอียดว่าผู้นำจีนพูดอะไรบ้าง เพราะเกรงจะขัดพิธีการทูต
ขณะที่ปธน.สี กล่าวในช่วงต้นของการหารือว่า ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นไม่เคยเปลี่ยนไปและจะไม่มีวันเปลี่ยน พร้อมกล่าวกับนายกฯญี่ปุ่นถึงประเด็นไต้หวันด้วยว่า จีนจะไม่ยอมรับการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของตน และจีนและญี่ปุ่นต้องจัดการจุดยืนที่แตกต่างกันในประเด็นข้อพิพาททางทะเลและเขตแดน “อย่างเหมาะสม”
ที่น่าสังเกตคือ การพบปะหารือระหว่างผู้นำจีนและญี่ปุ่น มีขึ้นในช่วงที่รัฐบาลโตเกียวและวอชิงตันกระชับความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโต้การรุกขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค พร้อมกับหาทางลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากแดนมังกรด้วย
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และการเปลี่ยนแปลงใด ๆ น่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่บริษัทข้ามชาติในญี่ปุ่นหลายรายโกยรายได้เป็นสัดส่วนมหาศาลจากจีน ซึ่งเป็นรายได้ก้อนโตที่หาตลาดอื่นมาแทนที่ได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า การพูดคุยระหว่างปธน.สีและนายกฯคิชิดะครั้งแรกในรอบ 3 ปี จะส่งผลเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในอนาคตอันใกล้ หรือจะยังมีบรรยากาศมึนตึงใส่กันต่อไป?