"มาครง" เรียกร้องสกัดความขัดแย้งใหม่ ห่วงมหาอำนาจขัดแย้งรุนแรงขึ้น
"มาครง" ยึดเวที CEO Summit เรียกร้องสกัดความขัดแย้งใหม่ ห่วงมหาอำนาจขัดแย้งรุนแรงขึ้น ชี้ 3 จุดเปลี่ยนสำคัญของโลก ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน การเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้น ปัญหาโลกร้อน
นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในฐานะแขกพิเศษของเจ้าภาพ (Guest of the Chair) ได้ขึ้นเวที APEC CEO Summit 2022 ในวันที่ 18 พ.ย.2565 เพื่อปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางวิกฤติการณ์โลก”
การขึ้นเวทีครั้งนี้ "มาครง" เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ กลับมาเคารพกฎระเบียบระหว่างประเทศ และสนับสนุนกลไกพหุภาคีเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของโลก โดยโลกมาถึงจุดเปลี่ยนอันเนื่องจากวิกฤติ 3 ประการ ประกอบด้วย
1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งปะทุขึ้นต่อเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางอาหารและพลังงาน นับเป็นการรุกรานที่ละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศ
2.การเผชิญหน้ากันของประเทศมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระเบียบโลก การค้า และการลงทุน
3.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับโลกและผู้นำธุรกิจ ที่จะร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมและความไร้เสถียรภาพ รวมทั้งเพื่อป้องกันความขัดแย้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้น จำเป็นจะต้องสร้างเสถียรภาพ และความสมดุลใหม่ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค และเสนอว่าความสมดุลอย่างมีพลวัต (dynamic balance) คือหนทางที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ไม่ตกอยู่ในสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกข้างระหว่างมหาอำนาจแต่ละฝ่าย
“เราจะต้องสร้างดีเอ็นเอใหม่ทางเศรษฐกิจ เราต่างยอมรับระบบทุนนิยมและการค้า แต่เราจะต้องทำให้มันครอบคลุมและยั่งยืน และความท้าทายของเราก็คือ สร้างการเติบโต ขยายการลงทุน และการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน ได้ผลักให้หลายประเทศตกอยู่ในภาวะที่ต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างใด และในขณะที่เราต้องการระเบียบโลกที่เป็นหนึ่งเดียว
นอกจากนี้ "มาครง" ได้หารือทวิภาคีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้ง / ฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว
รวมทั้งฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรมตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC
ส่วนด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกรวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง
ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล
i