"Apple" จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หากเทคโอเวอร์ "แมนฯ ยูไนเต็ด"

"Apple" จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หากเทคโอเวอร์ "แมนฯ ยูไนเต็ด"

ส่องประโยชน์ที่คาดว่า “Apple” จะได้รับ หากเทคโอเวอร์ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” หลังมีกระแสข่าวบริษัทเทคยักษ์ใหญ่รายนี้ รวมถึงบริษัทและกลุ่มทุนอื่น ๆ สนใจซื้อสโมสรดังแห่งพรีเมียร์ลีก และอะไรคือจุดแข็งของสโมสรปิศาจแดง ที่ทำให้หลายบริษัทปรารถนาเป็นเจ้าของ

เมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสข่าวว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple Inc. สนใจเข้าซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนกลายเป็นที่จับตามองต่อสาธารณะอย่างมาก ถึงแม้ภายหลัง แหล่งข่าววงในบริษัท Apple ออกมายืนยันว่าเป็นเพียง “ข่าวลือ” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากชื่อของ Apple แล้ว ยังมีบริษัทและเศรษฐีชื่อดังหลายรายแสดงความสนใจต้องการเป็นเจ้าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเป็น “เดวิด เบ็คแฮม” นักฟุตบอลอังกฤษชื่อดังและตำนานนักเตะทีมปิศาจแดง, อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Tesla และ SpaceX, อามันซิโอ ออร์เตกา เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ZARA, จิม แรดคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของอังกฤษ ทำให้น่าสนใจว่า สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ดมีเสน่ห์อย่างไร ถึงเป็นที่หมายปองของหลายบริษัท อีกทั้งหาก Apple ซึ่งเป็นบริษัทมูลค่าสูงที่สุดในโลกถึงกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ (ณ วันที่ 28 พ.ย.65) ได้เป็นเจ้าของแมนฯ ยูไนเต็ดจริง ๆ จะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง

\"Apple\" จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หากเทคโอเวอร์ \"แมนฯ ยูไนเต็ด\"
- สนาม Old Trafford ของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่จุผู้ชมได้เกือบ 8 หมื่นที่นั่ง (ภาพ: Manchester United) -

แหล่งรายได้สโมสรมาจากไหนบ้าง

เริ่มแรก เรามาทำความเข้าใจโครงสร้างรายได้ก่อน สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กของสหรัฐตั้งแต่เดือน ส.ค. 2555 มีแหล่งรายได้มาจาก 3 ทาง ดังนี้

1. รายได้เชิงพาณิชย์ (Commercial) เป็นรายได้จากการขายสปอนเซอร์ สัญญาราว 3-5 ปี ไม่ว่าจะเป็นนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ดสวมเสื้อแบรนด์สินค้านั้น โฆษณาใช้ผลิตภัณฑ์ ขายของที่ระลึก ถือเป็นสัดส่วนรายได้สูงที่สุดขณะนี้ อยู่ที่ 44%

2. รายได้จากการถ่ายทอดสด (Broadcasting) พร้อมกับเงินรางวัลการแข่งขันต่าง ๆ รวมถึงฟุตบอลถ้วย ยิ่งทีมแมนฯ ยูไนเต็ดเข้ารอบลึกเท่าใด ก็จะทำให้รายได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คิดเป็นสัดส่วนที่ 37%

3. รายได้จากการขายตั๋ววันแข่งขัน (Matchday) รับชมฟุตบอลแบบใกล้ชิดในสนาม Old Trafford ที่สามารถรับรองผู้ชมได้เกือบ 8 หมื่นที่นั่ง รายได้ส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยที่สุด อยู่ที่ 19%

เสน่ห์ของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด นอกจากความเก่าแก่ เกียรติประวัติ และชื่อเสียงแล้ว ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Kantar ในอังกฤษ ระบุว่า ทีมแมนฯ ยูไนเต็ดยังมีจำนวนแฟนคลับจากทั่วโลกสูงถึง 1,100 ล้านคน

เมื่อดูฐานผู้ติดตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของแมนฯ ยูไนเต็ด (ณ วันที่ 28 พ.ย.65) จะพบว่า

  • Facebook ผู้ติดตาม 78 ล้านคน
  • Twitter ผู้ติดตาม 34 ล้านคน
  • Instagram ผู้ติดตาม 60.7 ล้านคน
  • Weibo ผู้ติดตาม 11 ล้านคน

ด้วยฐานแฟนคลับแมนฯ ยูไนเต็ดที่มากมายเช่นนี้ จึงกลายเป็น “จุดแข็ง” ที่บริษัท Apple ใช้เป็นฐานโปรโมตธุรกิจได้ ขยายฐานลูกค้า โดยเราจะเห็นความพยายามของ Apple ที่ผ่านมา ที่ไม่หยุดอยู่เพียงแค่ขายมือถือ iPhone, iPad, MacBook แต่ขยายไปยังธุรกิจสื่อด้วย อย่างการลงทุนสร้าง Apple Music, Apple TV+ ที่ออกเป็นซีรีส์ดังอย่าง For All Mankind, The Morning Show, Severance ฯลฯ จนสร้างรายได้ให้ Apple คิดเป็น 20% หรือราว 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565

นอกจากนี้ Apple ยังทำสัญญาระยะยาว 10 ปี สตรีมการแข่งขันกีฬา Major League Soccer, Major League Baseball, NFL Sunday Ticket ในสหรัฐ อีกทั้ง Apple ยังขยายไปยังระบบโทรคมนาคมด้วยโดยการทำข้อตกลงกับบริษัทดาวเทียม Globalstar ที่ทำให้ iPhone รุ่น 14 เป็นต้นไป ส่ง SOS ขอความช่วยเหลือได้โดยไม่จำเป็นต้องมี Cellular หรือ WiFi

\"Apple\" จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หากเทคโอเวอร์ \"แมนฯ ยูไนเต็ด\"
- รายได้รวมของสโมสรเเมนฯ ยูไนเต็ด ระหว่างปี 2552-2564 (ภาพ: Statista) -

ด้วยเหตุนี้ การเป็นเจ้าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดของ Apple จะสามารถดึงฐานแฟนบอลของทีมราว 1,100 ล้านคนให้เชื่อมโยงกับ Apple ได้ผ่านการสมัครสมาชิก การรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เมื่อต้องการชมการแข่งขัน

ความท้าทายของ Apple หรือบริษัทที่ต้องการเป็นเจ้าของแมนฯ ยูไนเต็ด

แม้ว่าสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ดจะมีแฟนคลับอันล้นหลาม อันจะเป็นฐานขยายลูกค้าได้ แต่ก็มาพร้อมความท้าทายหลายด้าน รวมถึงภาระหนี้สินสุทธิที่มากถึง 484 ล้านดอลลาร์

ยิ่งไปกว่านั้น รายได้สโมสรในปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยเติบโตสม่ำเสมอนัก เมื่อเทียบกับบริษัท Apple ที่มีการเติบโตขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

\"Apple\" จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หากเทคโอเวอร์ \"แมนฯ ยูไนเต็ด\"
- รายได้สุทธิของ Apple Inc. ระหว่างปีงบการเงิน 2548-2565 (ภาพ: Statista) -

รายได้รวม แมนฯ ยูไนเต็ด ย้อนหลัง 4 ปี (หน่วย: ดอลลาร์)

  • ปี 2564 : 683 ล้าน
  • ปี 2563 : 629 ล้าน
  • ปี 2562 : 796 ล้าน
  • ปี 2561 : 776 ล้าน

กำไรสุทธิ แมนฯ ยูไนเต็ด ย้อนหลัง 4 ปี (หน่วย: ดอลลาร์)

  • ปี 2564 : ขาดทุน 111 ล้าน
  • ปี 2563 : ขาดทุน 28 ล้าน
  • ปี 2562 : กำไร 23 ล้าน
  • ปี 2561 : ขาดทุน 45.5 ล้าน

เหตุผลที่ปี 2563 และ 2564 ประสบผลขาดทุน เนื่องจากปัญหามาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ห้ามแฟนบอลเข้าสนาม ทำให้รายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมหายไป บรรยากาศเชียร์ฟุตบอลก็เงียบเหงาไปพักใหญ่

\"Apple\" จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หากเทคโอเวอร์ \"แมนฯ ยูไนเต็ด\"
ผลกำไร/ขาดทุนของสโมสรเเมนฯ ยูไนเต็ด ระหว่างปี 2553-2564 (ภาพ: Statista) -

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันโควิดจะคลี่คลายลงแล้ว บรรยากาศเชียร์บอลกำลังกลับมา รายได้บริษัทก็ยังมีความท้าทายถึงความสม่ำเสมอจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากการย้ายเข้า-ออกของนักเตะ อันมีผลต่อคุณภาพการเล่นของทีม การแย่งชิงซื้อตัวนักเตะใหม่ที่ช่วยยกระดับทีม การฝึกนักเตะให้เก่งและเข้ากับทีมได้ ปัจจัยเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการบริหาร และสุดท้ายแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานในสนามก็ส่งผลถึงรายได้สปอนเซอร์ที่จะเข้ามาเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ผู้จะเข้ามาเป็นเจ้าของแมนฯ ยูไนเต็ดจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายส่วน จุดแข็งฐานแฟนคลับและการบริหารทีม ไม่แน่ว่าเจ้าของคนใหม่แมนฯ ยูไนเต็ดในอนาคต อาจทำให้ทีมกลับมาคว้าแชมป์อีกครั้งก็เป็นได้ และใช้จุดแข็งด้านฐานแฟนคลับอันมหาศาลนี้ ขยายฐานลูกค้าของตนออกไปทั่วโลก

--------------

อ้างอิง:

ManUtd
Statista1
Statista2
AppEconomyInsights
Standard
Reuters