“Goblin Mode” โหมดขี้เกียจ - ทำตามใจตัวเอง คำแห่งปี 2565 จาก “Oxford”

“Goblin Mode” โหมดขี้เกียจ - ทำตามใจตัวเอง คำแห่งปี 2565 จาก “Oxford”

“Goblin Mode” พฤติกรรมทำตามใจตัวเอง ขี้เกียจบ้าง เลอะเทอะบ้าง กลายเป็นคำศัพท์แห่งปีของ “Oxford English Dictionary” หลังจากได้รับคะแนนโหวตจากคนทั่วไปอย่างท่วมท้น สะท้อนการยอมรับด้านไม่ดีของตนเอง พร้อมเปิด “คำแห่งปี” ของสถาบันอื่น

เป็นธรรมเนียมของทุกปีที่ผู้จัดทำหนังสืออ้างอิง และพจนานุกรมแต่ละสำนักจะเลือก “คำแห่งปี” หรือ “Word of The Year” ขึ้นมาหนึ่งคำ ซึ่งจะเป็นคำที่ถูกพูดถึงหรือแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้นๆ โดยก่อนหน้านี้ Collins English Dictionary และ Merriam-Webster สองพจนานุกรมชั้นนำของโลกได้ประกาศคำแห่งปีมาแล้ว 

คราวนี้ถึงคราวของ สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หรือ OUP (Oxford University Press) ผู้จัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษแห่งออกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ประกาศคำศัพท์ประจำปี 2565 กันบ้าง โดย OUP ได้เลือกคำว่า “Goblin Mode” 

ตามความหมายที่ระบุไว้ในพจนานุกรมของออกซ์ฟอร์ดได้ให้ความหมายของ Goblin Mode เอาไว้ว่า เป็นพฤติกรรมประเภทหนึ่งที่ทำตามใจตัวเอง โดยมักจะเป็นไปในทางที่ปฏิเสธบรรทัดฐานหรือความคาดหวังทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น การทำตัวขี้เกียจ (lazy) เลอะเทอะ (slovenly) หรือ ละโมบโลภมาก (greedy)

อย่างไรก็ตาม คำนี้ไม่ใช่คำที่พึ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มปรากฏในโลกออนไลน์ตั้งแต่ปี 2552 และกลายเป็นไวรัลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากการที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ตัดต่อบทสัมภาษณ์ของ “จูเลีย ฟ็อกซ์” นักแสดง และนางแบบ เกี่ยวกับการเลิกราของเธอ และ คานเย เวสต์ โดยระบุว่า คานเยไม่ชอบให้เธอทำตัวตามใจตัวเอง (Goblin Mode) จนกลายเป็นไวรัล ซึ่งภายหลังฟ็อกซ์ได้ออกมาปฏิเสธผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่าว่าเธอไม่ได้ให้สัมภาษณ์เช่นนั้น  

อีกทั้งการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นตัวกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างเบื่อหน่าย ทำให้ Goblin Mode ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Reddit เว็บบอร์ดชื่อดังของสหรัฐ ที่เหล่าผู้ใช้งานยอมรับว่าพวกเขาเข้าสู่โหมดก็อบลิน เมื่ออยู่บ้านตามลำพัง 

  • Goblin Mode การยอมรับด้านไม่ดีของตนเอง

ในปีนี้เป็นปีแรกที่ OUP เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเลือกคำแห่งปีผ่านการโหวต โดยนิตยสารเกมชื่อดังอย่าง PC Gamer ได้ขอให้ผู้อ่านช่วยกันโหวตให้ Goblin Mode กลายเป็นคำแห่งปี ซึ่งประสบผลสำเร็จ เพราะคำนี้ได้รับคะแนนโหวตอย่างท่วมท้นถล่มทลายกว่า 318,956 โหวต คิดเป็น 93% ของคะแนนโหวตทั้งหมด

แคสเปอร์ แกรธโวห์ล ประธานของ Oxford Languages ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้คนยอมรับนิสัยไม่ดีของตัวเอง ซึ่งเปรียบได้กับก็อบลิน ปีศาจแสนเจ้าเล่ห์ ที่มักปรากฏในนิยายแฟนตาซี

“ในตอนแรก เราหวังว่าสาธารณชนจะสนุกกับมีส่วนร่วมในการเลือกคำ แต่ผลจากการเลือกของประชาชนนั้นทำให้เราแปลกใจ และเป็นการเน้นย้ำว่าคำศัพท์มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจว่าเราเป็นใคร และประมวลผลสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกรอบตัวเราอย่างไร 

Goblin Mode แสดงให้เห็นว่า พวกเราต่างหนักใจในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน เราก็พร้อมยอมรับตัวตนของเราที่ไม่ได้เป็นตัวตนในอุดมคติดังที่สังคมคาดหวัง ด้วยการแสดงผ่านอินสตาแกรมและติ๊กต็อก”

ซูซี เดนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคำศัพท์ทางโทรทัศน์ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “มองเผินๆ แล้ว การที่ Goblin Mode กลายเป็นคำแห่งปีนั้นดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว เราจะเห็นว่ามันเป็นปฏิกิริยาที่ผู้คนแสดงต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ พวกเราต่างกำลังถอยห่าง และไม่ต้องการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบเหมือนใส่ฟิลเตอร์อยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ คำที่ได้รับการโหวตมาเป็นอันดับที่ 2 คือ “เมตาเวิร์ส” (Metaverse) หรือจักรวาลนฤมิตของ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก ที่หวังจะพลิกโฉมโลกเสมือนแต่ดูเหมือนไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้ ด้วยคะแนน 14,484 โหวต ตามมาด้วยแฮชแท็ก #IStandWith ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นหนึ่งเดียวของคนทั่วโลกเพื่อต่อต้านเหตุการณ์ที่สร้างความแตกแยกที่เกิดขึ้นในปีนี้ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้รับการโหวตไป 8,639 โหวต

 

  • คำแห่งปีจากหลากหลายสถาบัน

ในปีนี้ Collins English Dictionary เป็นเจ้าแรกที่ออกมาประกาศคำแห่งปี โดยเลือกคำว่า “Permacrisis” ที่มีความหมายว่า ระยะเวลาอันยาวนานของความไม่มั่นคง และไม่มีเสถียรภาพ (an extended period of instability and insecurity) เนื่องจากเป็นคำที่สามารถสรุปเหตุการณ์ในรอบปี 2565 ได้อย่างชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าปีนี้เลวร้ายกับผู้คนจำนวนมากเพียงใด

อเล็กซ์ บีครอฟต์ กรรมการผู้จัดการของคอลลินส์ เลิร์นนิง กล่าวว่า คำศัพท์นี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

“ภาษาสามารถสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลก ผู้คนต่างใช้ชีวิตอย่างวิตกกังวลในสถานการณ์อันเลวร้ายที่คาดการณ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น Brexit การระบาดของโควิด-19 สภาพอากาศเลวร้าย สงครามในยูเครน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง พลังงานที่มีจำกัด และวิกฤติค่าครองชีพ”

ส่วนในสัปดาห์ที่ผ่านมา Merriam-Webster ผู้จัดทำหนังสืออ้างอิง และพจนานุกรมเก่าแก่ของสหรัฐ ได้เลือกคำว่า “Gaslighting” เป็นคำแห่งปี ซึ่งคำนี้แปลว่า “การบงการทางจิตใจบุคคลอื่นเป็นระยะเวลานาน ทำให้เหยื่อตั้งคำถามถึงความถูกต้อง การรับรู้ความจริง ความทรงจำ และความคิดของตนเอง โดยภายหลังจะทำให้เกิดความสับสน สูญเสียความมั่นใจ และความภาคภูมิใจในตนเอง เกิดความไม่แน่นอนของอารมณ์หรือความไม่มั่นคงทางจิตใจ” หรือแปลง่ายๆ ก็คือ การปั่นหัว ทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิด หรือโยนความผิดให้ผู้อื่น

ตัวอย่างเช่น กรณีของ “อี ซึงกิ” นักแสดงและศิลปินแถวหน้าของวงการ K-POP ที่โดนค่ายต้นสังกัดหลอกมาตลอด 18 ปีว่าเขาเป็นนักร้องติดลบ ทำเพลงไม่มีรายได้ อีกทั้งยังโทษซึงกิว่า ที่เพลงไม่ทำกำไรเป็นความผิดของเขา และไม่เคยได้รับคำชมจากค่าย แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากเพียงใดก็ตาม จนทำให้ซึงกิคิดว่าตัวเองเป็นคนที่โหยหาคำชมและดีไม่พออยู่เสมอ

Gaslighting ถูกค้นหาบน merriam-webster.com เพิ่มขึ้น 1,740% ในปี 2565 เทียบกับปีก่อนหน้า แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้คำนี้กลายเป็นคำแห่งปี

ปีเตอร์ โซโคโลวสกี บรรณาธิการใหญ่ ของ Merriam-Webster กล่าวว่า “คำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา ที่เป็นยุคของข่าวปลอม ทฤษฎีสมคบคิด การปั่นกระแสต่างๆ ในทวิตเตอร์ ทำให้ Gaslighting กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในยุคของเรา

จะเห็นได้ว่า คำแห่งปีของทั้ง 3 สถาบันนั้นเป็นคนละคำอย่างสิ้นเชิง แต่กลับเป็นคำที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกกำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความสุขมากนัก ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาวะสงคราม ความเหนื่อยหน่ายกับโลกที่เต็มไปด้วยข่าวลวงและทฤษฎีสมคบคิด

 

ที่มา: Aljazeera, BBC, Insider


พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์