RSF เผยรายชื่อประเทศจับผู้สื่อข่าวขังคุกมากที่สุดในโลก
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงาน ปี 2565 นักข่าวทั่วโลกถูกจำคุกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 533 คน กว่าครึ่งอยู่ในห้าประเทศเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีฐานปฏิบัติการในประเทศฝรั่งเศส เผยรายงานล่าสุด ผู้สื่อข่าวทั่วโลกถูกจำคุกมากเป็นประวัติการณ์ 533 คนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 488 คนในปี 2564 ที่สูงสุดทุบสถิติอยู่แล้ว กว่าครึี่งถูกควบคุมตัวอยู่ในห้าประเทศเท่านั้น ได้แก่ จีน ที่ยังคงเป็นประเทศจำคุกนักข่าวมากที่สุด 110 คน ตามด้วยเมียนมา 62 คน อิหร่าน 47 คน เวียดนาม 39 คน และเบลารุส 31 คน
RSF ทำรายงานนี้มาตั้งแต่ปี 2538 อิหร่านเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ปีก่อน แต่นับจากการประท้วงปะทุขึ้นในเดือน ก.ย. ชนวนเหตุจากการเสียชีวิตของนางสาวมาห์ซา อามินี วัย 22 ปี ผู้ถูกตำรวจจับฐานละเมิดระเบียบการแต่งกายแล้วเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว อิหร่านจำคุกนักข่าว 34 คน
จำนวนนักข่าวหญิงที่ติดคุกทั่วโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เพิ่มขึ้นจาก 60 คนตั้งแต่ปี 2564 มาอยู่ที่ 74 คน ส่วนใหญ่เนื่องจากผู้หญิงมาทำอาชีพนี้มากขึ้น กรณีดังคือนักข่าวหญิงอิหร่านนามนิลูฟาร์ ฮาเมดีและเอลาฮี โมฮัมมาดี อยู่ในกลุ่มนักข่าวหญิง 15 คนที่ถูกจับระหว่างการประท้วง เธอทั้งสองทำข่าวการเสียชีวิตของนางสาวอมินีตอนนี้อาจเจอโทษประหารชีวิต
“สิ่งนี้บ่งชี้ถึงความปรารถนาของอิหร่านที่จงใจปิดปากผู้หญิงให้เงียบเสียง” RSF ระบุ
รายงานระบุด้วยว่า สามในสี่ของนักข่าวที่ถูกจำคุกกระจุกตัวอยู่ในเอเชียและตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันการปราบปรามสื่อในรัสเซียก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน
จำนวนนักข่าวเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเช่นกันมาอยู่ที่ 57 คน เนื่องจากสงครามในยูเครนจากที่เคยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 48 และ 50 คนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปี 2565 นักข่าวแปดคนเสียชีวิตระหว่างรายงานข่าวสงคราม ห้าคนเสียชีวิตในประเทศที่ไม่มีการสู้รบ เกือบ 80% ของสื่อทั่วโลกที่เสียชีวิตในปี 2565 ตกเป็นเป้าหมายโดยเจตนาเนื่องจากงานที่ทำหรือข่าวที่รายงาน เช่น ข่าวแก๊งอาชญากรรมหรือการทุจริต
“รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมทำให้คุกเต็มเร็วกว่าที่ผ่านมาด้วยการจับนักข่าวขังคุก จำนวนนักข่าวถูกคุมขังที่สูงเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ยืนยันถึงการปราบปราม และความจำเป็นเร่งด่วนในการต่อต้านรัฐบาลไร้ยางอายเหล่านี้ เพื่อขยายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเราไปยังทุกคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีภาพสื่อ ความเป็นอิสระ และพหุนิยม” คริสทอฟ เดอลัวร์ เลขาธิการ RSF ระบุ