18 ปีที่รอคอย PCA ปูทางเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผย ไทย-อียู ลงนามกรอบข้อตกลง PCA จะเป็นแบบแผนชี้ทิศทางความร่วมมือแบบรอบด้าน ให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ปูทางเจรจาเอฟทีเอที่รอคอย เพราะจะเป็นแรงหนุนสำคัญช่วยฟื้นเศรษฐกิจ หลังโควิด-19
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการระหว่างการเยือนประเทศเบลเยียมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรปนั้น
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้แทนไทย ในการร่วมลงนามกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-สหภาพยุโรป (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่งใช้เวลาเจรจา 18 ปี เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจนและมีแบบแผนมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเพิ่มกรอบการหารือเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของกันและกัน ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือและกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ
“ไทยมีเป้าหมายที่จะให้ความร่วมมือภายใต้ PCA ช่วยยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมสากล และนำไปสู่การเปิดการเจรจาจัดทำ FTA กับอียูต่อไป” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายดอนยังได้พบปะภาคเอกชนชั้นนำของอียู ในช่วงอาหารกลางวัน โดยฝ่ายไทยได้ย้ำถึงนโยบายเศรษฐกิจไทยที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระสำคัญในช่วงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคที่ผ่านมาของไทย รวมถึงที่สมาชิกเอเปคได้ให้การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG” แล้ว และยังเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบาย Green Deal ของอียู นอกจากนี้ ยังเป็นประเด็นสำคัญในการค้ากับอียู
ฝ่ายไทยเชิญชวนให้อียูมาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเขียวในไทยและอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือเรื่อง LNG เพื่อลดความผันผวนของราคา LNG ในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งอาเซียนและอียู ในช่วงที่กำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19
ประเด็นสำคัญที่ได้หารือกับฝ่ายอียู ได้แก่
1.ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ไทยได้เชิญชวนให้อียูเข้ามาลงทุนในอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อียูสามารถใช้ประโยชน์ การส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยได้มีการลงนาม "ความตกลงทางเดินอากาศรอบด้านระหว่างอาเซียน-อียู"
2.ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ทั้งสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งได้มีการย้ำถึงเจตนารมณ์ของอาเซียนในการขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ข้อ และสถานการณ์ในยูเครน โดยเฉพาะการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การยุติความรุนแรง และหลักการของตามกฎบัตรสหประชาชาติ
3.ประเด็นท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก และการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งล้วนเป็นหัวใจของการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่อียูจะใช้เป็นตัวกลางสำหรับความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ไทยผลักดันให้อียูอำนวยความสะดวกแก่สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากไทย รวมทั้งย้ำถึงการดำเนินการของไทยและอาเซียนเพื่อยกระดับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้อาเซียนเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก