เปิดสูตรการกุศล เศรษฐีใจบุญเอเชีย

เปิดสูตรการกุศล เศรษฐีใจบุญเอเชีย

เรื่องราวของผู้มั่งคั่งแต่ไม่ลืมช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากได้รับการกล่าวขานเสมอมา นิตยสารฟอร์บส จัดทำรายชื่ออภิมหาเศรษฐีใจบุญแห่งเอเชียมาอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 16

การรวบรวมข้อมูลของฟอร์บสเน้นย้ำถึงการบริจาคเงิน เวลา และความสนใจของเหล่าอภิมหาเศรษฐีเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ส่วนใหญ่ผ่านการตั้งมูลนิธิ บริจาคช่วยการแพทย์ การศึกษา บ้างก็ช่วยเหลือด้านศิลปะหรือผู้ประสบภัยจากความขัดแย้ง นี่คือผู้ใจบุญส่วนหนึ่งที่มีเรื่องราวน่าสนใจ 

อินเดีย: กัวตัม อดานี 

ประธานอดานีกรุ๊ป วัย 60 ปี

เปิดสูตรการกุศล เศรษฐีใจบุญเอเชีย

ตอนอายุครบ 60 ปีเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา  กัวตัม อดานี บุคคลผู้มั่งคั่งที่สุดของอินเดีย กลายเป็นหนึ่งในเศรษฐีใจบุญที่สุดของประเทศ ด้วยการประกาศบริจาคเงิน 6 แสนล้านรูปี (7.7 พันล้านดอลลาร์) นำไปแก้ปัญหาสาธารณสุข การศึกษา และพัฒนาทักษะ เจ้าตัวให้เหตุผล

 “ในระดับพื้นฐานที่สุด โครงการที่เกี่ยวข้องกับสามด้านนี้ควรถูกมองเป็นองค์รวม และร่วมกันเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างอินเดียที่เท่าเทียม เตรียมตัวพร้อมสำหรับอนาคต” 

การบริจาคกระทำผ่านมูลนิธิอดานีของครอบครัว ที่ทำกิจกรรมความช่วยเหลือเก้าสาขา รวมทั้งสามสาขาที่ได้เงินจากการบริจาคในเดือน มิ.ย.

มูลนิธิอดานี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ได้ปรีติ อดานี ภรรยาของกัวตัม ผู้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิเป็นหัวหอกมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แต่ละปีมูลนิธิช่วยเหลือประชาชนเกือบ 3.7 ล้านคนทั่วอินเดีย

 

ออสเตรเลีย: เมลานี เพอร์กินส์- คลิฟฟ์ ออเบรตช์

ซีอีโอ Canva วัย 35 ปี - ซีโอโอ Canva วัย 36 ปี

ภายในเวลาไม่กี่เดือน บริษัทกราฟฟิก Canva ของสองสามีภรรยา เมลานี เพอร์กินส์และคลิฟฟ์ ออเบรตช์ ที่ช่วยกันก่อตั้งก็มีมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ทั้งคู่ ได้ร่วมวงอภิมหาเศรษฐีใจบุญคนอื่นๆ ด้วยการลงนามใน The Giving Pledge องค์กรณรงค์ให้เศรษฐีบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล ให้คำมั่นบริจาคความมั่งคั่งส่วนใหญ่ที่หาได้ตลอดชีวิต 

สองสามีภรรยามีหุ้นใน Canva 31% โดย 30% นำไปทำกิจกรรมในมูลนิธิ Canva ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของบริษัท ทั้งคู่เรียกการตัดสินใจนี้ว่า “ไม่ใช่แค่โอกาสอันมหาศาล แต่เป็นความรับผิดชอบที่สำคัญ”

ถึงบัดนี้ Canva ให้ความสนับสนุนโควิด-19 ในอินเดีย และกองทุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยูเครน รวมทั้งมีส่วนร่วมในโครงการ 10 ล้านดอลลาร์ในมาลาวี ที่ให้เงินโดยตรงแก่ประชาชนผู้ใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้น

Canva ยังเปิดให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 250,000 แห่งเข้าถึงแพลตฟอร์มพรีเมียมของบริษัทได้, เปิดตัวโครงการริเริ่ม Canva เพื่อการศึกษา ให้บริการฟรีแก่นักเรียนอนุบาลถึง ม.6 และครูทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค. Canva แพลตฟอร์มกราฟฟิกดีไซน์ที่ก่อตั้งมา 10 ปี กล่าวว่า ทุกๆ เดือนมีคนใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทมากกว่า 100 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้นักลงทุนหั่นมูลค่าบริษัทลงมาเหลือ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ท่ามกลางตลาดเทคโนโลยีผันผวน

ฮ่องกง: ลี กาชิง 

ที่ปรึกษาอาวุโส ซีเคฮัตชิสัน โฮลดิงส์ วัย 94 ปี

เปิดสูตรการกุศล เศรษฐีใจบุญเอเชีย

ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา มหาเศรษฐีฮ่องกง “ลี กาชิง” บริจาคเงินไปแล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (128 ล้านดอลลาร์) ให้กับโครงการอันหลากหลายในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และอื่นๆ ในโลก ผ่านมูลนิธิลี กาชิง

เงินจำนวนนี้รวมถึงเงิน 150 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงเป็นทุนทำวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจีนฮ่องกง และกว่า 70 ล้านดอลลาร์เพื่อสู้โควิด-19 มูลนิธิพยายามบรรเทาแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขฮ่องกง ด้วยการสนับสนุนโรงพยาบาลเอกชนรักษาผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด และให้เงินซื้อวัสดุป้องกันอันตรายสำหรับบ้านพักคนชราและให้อาหารแก่ผู้ด้อยโอกาส

ช่วงไม่กี่ปีหลังมูลนิธิลี กาชิงบริจาคช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงในปี 2562 และความเสียหายในช่วงโควิดระบาด

ข้อมูลจากมูลนิธิระบุ ตั้งแต่ปี 2524 มูลนิธิให้ความช่วยเหลือกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ แก่โครงการมากมาย เช่น การศึกษา บริการทางการแพทย์ และโครงการต่อต้านความยากจน ราว 80% ของโครงการเน้นจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

เกาหลีใต้: ไมเคิล คิม 

ผู้ร่วมก่อตั้ง เอ็มบีเค พาร์ตเนอร์ส วัย 59 ปี

อภิมหาเศรษฐีหุ้นนอกตลาดรายนี้ให้คำมั่นเมื่อเดือน ก.ย. บริจาคเงิน 10 ล้านดอลลาร์ให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในนิวยอร์ก ที่เขาเป็นคณะกรรมการผู้ดูแลผลประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2560 เงินก้อนนี้จะใช้สำหรับปรับปรุงตึก Oscar L และH.M. Agnes Hsu-Tang สำหรับศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย โดยแกลเลอรีนี้จะใช้ชื่อของคิมและพัก คยุงอาห์ ภรรยา คิมเผยกับฟอร์บสว่า เขาและภรรยาสนับสนุนศิลปะ “เพื่อเติมความงามให้โลก”

ในฐานะนักสะสมศิลปะตัวยง คิมดูแลงานศิลปะที่เอ็มบีเคพาร์ตเนอร์ส บริษัทไพรเวตอิควิตีใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย และยังเป็นคณะกรรมการคาร์เนกีฮอลล์ สถานที่จัดคอนเสิร์ตในนิวยอร์ก

ไม่เพียงเท่านั้น คิมยังทำการกุศลด้านการศึกษาด้วย มูลนิธิทุนเอ็มบีเคแจกทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้มีความจำเป็นทางการเงินไปแล้วว่า 175 คนนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2550 และปีนี้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่คิมติดลิสต์อภิมหาเศรษฐีใจบุญ โดยในเดือน ส.ค.2564 คิมบริจาคเงิน 25.5 ล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลท้องถิ่นโซลสร้างห้องสมุดสาธารณะแห่งใหม่

ญี่ปุ่น: ฮิโรชิ มิกิตานิ 

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ราคูเท็นกรุ๊ป วัย 57 ปี

เปิดสูตรการกุศล เศรษฐีใจบุญเอเชีย

เดือน ก.พ. มิกิตานีประกาศผ่านทวิตเตอร์ มอบเงิน 1 พันล้านเยน (7.2 ล้านดอลลาร์) ให้ยูเครนรับมือความมือเสียหายด้านมนุษยธรรมผลจากการรุกรานของรัสเซีย ในจดหมายที่มีถึงประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ระบุ

“เมื่อผมเห็นการต้านทานอย่างกล้าหาญของคุณต่อการโจมตีที่ไม่มีการยั่วยุก่อนนี้ ผมคิดเรื่องที่ผมพอทำให้ยูเครนได้ในญี่ปุ่นจึงตัดสินใจบริจาค”

ยิ่งไปกว่านั้นตอนความขัดแย้งปะทุ ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซและโทรคมนาคมมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์รายนี้ อนุญาตให้ชาวยูเครนใช้ไวเบอร์ แอพพลิเคชันส่งข้อความของราคูเท็น ที่มีการติดตั้งใน 97% ของสมาร์ทโฟนยูเครน โทรเข้าโทรศัพท์บ้านและมือถือได้ฟรี

เว็บไซต์บริจาคผ่านทางออนไลน์ให้ยูเครนของราคูเท็นเริ่มต้นในเดือน ก.พ. ระดมเงินได้เกือบ 1.3 พันล้านเยน จากผู้บริจาคกว่า 70,000 คนเพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือ เดือนพ.ค. มิกิตานิเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงดนตรีการกุศลของซูเปอร์สตาร์ป็อบชาวยูเครน “ทีนา แครอล” ในกรุงโตเกียว เพื่อระดมทุนช่วยเหลือยูเครน

อภิมหาเศรษฐีรายนี้พบเซเลนสกีครั้งแรกระหว่างเยือนยูเครนเมื่อสามปีก่อน เพื่อหารือเรื่องการขยายกิจการราคูเท็นที่นั่น