แนวทางรัฐบาลญี่ปุ่นด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจ
เรื่องของภาคธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดที่ผู้อ่านเห็นผ่านตาหรือได้ยินบ่อยในหลาย ๆ สื่อ และเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนในหลาย ๆ ประเทศให้ความสนใจ
สำหรับประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยแพร่ แนวทางสำหรับการเคารพสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานที่มีความรับผิดชอบ (Guidelines on Respecting Human Rights in Responsible Supply Chains)
แนวทางฉบับนี้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจที่ประกอบธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด ปฏิบัติตามแนวทางฉบับนี้และเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มความสามารถ
ถึงแม้แนวทางฉบับนี้จะไม่มีผลเป็นข้อบังคับ หรือหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ก็คาดหมายได้ว่าจะทำให้เกิดความตื่นตัวในภาคธุรกิจ และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับปรุงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
เนื้อหาของแนวทางฉบับนี้
แนวทางฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อ คือ (1) บทนำ (2) ภาพรวมของมาตรการการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ภาคธุรกิจสามารถทำได้ (3) นโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (4) การตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence) และ (5) การให้ความช่วยเหลือ
นอกจากเนื้อหาหลัก 5 ส่วน ในแนวทางฉบับนี้ยังมีส่วนของคำถามคำตอบ (Q&A) และ สรุปกฎหมายในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยย่อ อีกด้วย
ในหัวข้อที่ 1 (บทนำ) จะกล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของแนวทางฉบับนี้ ความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชน และขอบเขตของบริษัทและขอบเขตของกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางฉบับนี้
โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ขอบเขตของกิจกรรมภายใต้แนวทางฉบับนี้ ไม่จำกัดเฉพาะเพียงบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่รวมถึงกิจกรรมของบริษัทที่มีการทำธุรกิจกับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น
เช่น ผู้ให้บริการ คู่สัญญาของกิจการร่วมค้า บริษัทที่บริษัทในประเทศญึ่ปุ่นไปลงทุน ฯลฯ
ในหัวข้อที่ 2 (ภาพรวมของมาตรการการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ภาคธุรกิจสามารถทำได้) อธิบายสรุปย่อเนื้อหาของหัวข้อที่ 3 ถึง 5 โดยสังเขป
ในหัวข้อที่ 3 (นโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน) จะกล่าวถึงประเด็นที่สำคัญที่จะต้องพิจารณาในการออกนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และประเด็นที่สำคัญที่จะต้องพิจารณาหลังจากออกนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแล้ว
โดยในส่วนนี้จะเน้นย้ำเรื่องที่นโยบายควรจะประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนต่อบุคคลภายนอกโดยผู้นำองค์กร
ในหัวข้อที่ 4 (การตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชน) จะกล่าวถึงการระบุและการประเมินปัจจัยที่มีผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชน โดยลงรายละเอียดถึงขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อระบุและประเมินปัจจัยผลกระทบด้านลบ รวมถึงประเด็นที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายเรื่องเกี่ยวกับการจัดลำดับประเด็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และการจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหา
อีกทั้งมีการพูดถึงขั้นตอนการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านลบ และมีการยกตัวอย่างมาตรการที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ยิ่งไปกว่านั้น หัวข้อนี้ยังกล่าวถึงวิธีการจัดการสถานการณ์ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ การประเมินความมีประสิทธิภาพของมาตรการเกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการอธิบายและการเผยแพร่ข้อมูล
ในหัวข้อที่ 5 (การให้ความช่วยเหลือ) อธิบายถึงขั้นตอนในการร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เช่น ข้อเสนอให้มีสายด่วนสำหรับการแจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ให้บุคคลภายนอกบริษัทสามารถแจ้งข้อมูลได้ และกลไกระดับประเทศที่มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ในส่วนท้ายของแนวทางฉบับนี้ก็จะมีส่วนคำถามคำตอบของสถานการณ์จำลองเพื่อเพิ่มความเข้าใจในการนำแนวทางฉบับนี้ไปปรับใช้จริง
นอกจากนี้ ยังมีการสรุปกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เช่น กฎหมายของสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหภาพยุโรป
เนื่องจากกฎหมายของประเทศอื่น ๆ นั้นอาจส่งผลทางตรงหรือทางอ้อมต่อบริษัทญี่ปุ่นได้ จึงมีการให้ข้อมูลในส่วนนี้ไว้
ในส่วนของประเทศไทย เรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจนั้นก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจค่อนข้างสูง และเป็นที่น่าจับตามองว่ารัฐบาลไทยและภาคธุรกิจของไทยนั้นจะพัฒนาการประกอบธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนไปในรูปแบบไหน
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าจับตามองกันต่อไปว่าแนวทางฉบับนี้ของประเทศญี่ปุ่นนั้นจะส่งผลทางตรงและทางอ้อม กับผู้ประกอบการในประเทศไทยอย่างไร
คอลัมน์ Business&Technology Law
ภาณุพันธุ์, ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น