ยูเอ็นพูดเอง! ชั่วโมงทำงานยืดหยุ่นดีกับธุรกิจ
สหประชาชาติเผย การทำงานอย่างยืดหยุ่นที่เคยทำระหว่างวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้ดีกับพนักงานเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มผลิตภาพและอาจเพิ่มกำไรให้ภาคธุรกิจด้วย
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แห่งสหประชาชาติจัดทำรายงานสมดุลชีวิตและงานฉบับแรกประเมินผลกระทบจากเวลาทำงาน ชั่วโมงการทำงาน และการจัดการเวลาทำงานกับความเป็นอยู่ของพนักงานและผลประกอบการธุรกิจ
จอน เมสเซนเจอร์ หัวหน้าคณะผู้เขียนรายงานแถลงว่า ถ้าใช้บทเรียนบางอย่างของวิกฤติโควิด-19 แล้วพิจารณาอย่างรอบคอบถึงโครงสร้างและชั่วโมงการทำงานโดยรวม “เราสามารถสร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ยกระดับทั้งผลประกอบการธุรกิจและสมดุลชีวิตและงาน”
รายงานฉบับนี้พิจารณามาตรการรับมือวิกฤติที่รัฐบาลและธุรกิจใช้ในช่วงโควิดระบาด เพื่อให้องค์กรทำงานได้โดยที่ไม่ต้องปลดพนักงาน ซึ่งการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานจำนวนมากลงช่วยให้ไม่ต้องปลดพนักงานได้
การที่ทั่วโลกทำงานทางไกลเป็นส่วนใหญ่ยังเปลี่ยนธรรมชาติการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย โดย ILO อ้างหลักฐานสำคัญที่ได้จากมาตรการโควิด กล่าวคือ การทำงานอย่างยืดหยุ่นพนักงานทำงานที่ไหน เมื่อใด อย่างไรก็ได้ มีประโยชน์ไม่เฉพาะต่อตัวพนักงานเอง แต่ยังมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจด้วย เช่น ช่วยเพิ่มผลิตภาพอีกด้านหนึ่ง การทำงานที่ไม่ยืดหยุ่นเพิ่มต้นทุนเพราะทำให้พนักงานลาออกมากขึ้น
“มีหลักฐานมากพอสมควรว่านโยบายสมดุลชีวิตและงานให้ประโยชน์สำคัญต่อธุรกิจ” รายงานระบุ
ILO ย้ำว่า การทำงานทางไกลและการทำงานแบบยืดหยุ่นอื่นๆ ช่วยคงการจ้างงานไว้พร้อมๆ กับส่งเสริมให้พนักงานมีอิสระมากขึ้น แต่กฎระเบียบ เช่น นโยบาย “สิทธิที่จะไม่รับการติดต่อ” ก็จำเป็นเพื่อป้องกันผลเสีย
ทั้งนี้ ใช่ว่าแรงงานทั่วโลกจะทำงานตามมาตรฐานแปดชั่วโมงต่อวัน หรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์กว่าหนึ่งในสามทำงานสัปดาห์ละกว่า 48 ชั่วโมง ขณะที่ 20% ทำงานไม่ถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์