เครื่องบอกสถานะ! ชาวเกาหลีใต้ซื้อสินค้าแบรนด์เนมเบอร์ 1 โลก
มอร์แกน สแตนลีย์ เผย ชาวเกาหลีใต้เป็นผู้ซื้อสินค้าแบรนด์เนมต่อหัวประชากรมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าหนังลูกวัว "ปราด้า" (Prada) ของอิตาลี หรือเสื้อเทรนช์โค้ท "เบอร์เบอรี่" (Burberry) รุ่นคลาสสิกของอังกฤษ
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน มอร์แกน สแตนลีย์ประเมินยอดใช้จ่ายสินค้าแบรนด์เนมรายบุคคลของชาวเกาหลีใต้โดยรวมในปี 2565 เติบโต 24% มาอยู่ที่ 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 325 ดอลลาร์ (11,375 บาท) ต่อหัวประชากร เหนือกว่าการใช้จ่ายต่อหัวประชากรของชาวจีนที่ 55 ดอลลาร์ (1,925 บาท) และชาวอเมริกัน 280 ดอลลาร์ (9,800 บาท) หลายขุม
แบรนด์ลักชัวรีเองก็ตอกย้ำยอดขายที่แข็งแกร่งในเกาหลีด้วย รายได้ในเกาหลีใต้ของมองแคลร์ “เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า” ในไตรมาสสองเทียบกับช่วงก่อนโควิด
ด้านริชมอนด์กรุ๊ปเจ้าของคาร์เทียร์ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยอดขายปี 2565 เติบโตระดับเลขสองหลักเทียบกับปี 2563 และ 2564
ขณะที่ปราด้ากล่าวว่า การล็อกดาวน์ของจีนทำให้ยอดขายค้าปลีกปี 2565 ลดลง 7% แต่ผลงานที่แข็งแกร่งในเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยชดเชยได้
เครื่องแสดงความสำเร็จทางการเงิน
นักวิเคราะห์จากมอร์แกนสแตนลีย์ อธิบายว่า ความต้องการสินค้าแบรนด์เนมของผู้ซื้อชาวเกาหลีใต้เป็นผลจากอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นและความต้องการแสดงสถานะทางสังคม “ผู้บริโภคในเกาหลีใต้คำนึงถึงภาพลักษณ์และความสำเร็จทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่”
นอกจากนี้ สังคมเกาหลีใต้ยังยอมรับการแสดงฐานะได้มากกว่าที่อื่น ผลสำรวจชิ้นหนึ่งของแมคคินเซย์พบว่า ผู้ให้ข้อมูลชาวเกาหลีเพียง 22% เท่านั้นที่มองว่าการโชว์สินค้าแบรนด์เนมเป็นพวกไร้รสนิยม เทียบกับชาวญี่ปุ่น 45% และชาวจีน 38%
ขณะที่ความต้องการสินค้าลักชัวรียังได้อานิสงส์จากครัวเรือนมั่งคั่งขึ้น ข้อมูลจากธนาคารกลางเกาหลีชี้ว่า ความมั่งคั่งสุทธิครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2564 ราว 76% ของความมั่งคั่งอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ปี 2563
ขณะเดียวกัน แบรนด์เนมก็นิยมดึงคนดังมาเป็นตัวเร่งดีมานด์
“เซเลบคนสำคัญเกือบทุกคนล้วนเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้แบรนด์เนมชั้นนำ” เช่น เฟนดิกับลี มินโฮ หรือเฟนดิกับแรปเปอร์ G-Dragon
ดิออร์ได้โรเซนักร้องแบล็กพิงค์มาเป็นแบบให้กับคอลเลคชัน HardWear ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก เพิ่มยอดขายไลน์นี้ได้ถึงสองเท่า
อย่างไรก็ตาม บริษัทวิเคราะห์เบนแอนด์คัมปะนี เตือนให้ระวังการวัดการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมต่อหัวประชากร
เว่ยเว่ย ซิง หุ้นส่วนเบนแอนด์โค ระบุ “สินค้าลักซ์ชัวรีโดยนิยามแล้วไม่ใช่สินค้าตลาดแมส ดิฉันแนะนำให้แบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรูโดยรวมตามจำนวนประชากรชนชั้นกลางและที่สูงกว่านั้น ซึ่งจะเป็นมาตรวัดที่สะท้อนทัศนคติและการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมได้มากกว่าและเป็นการลดช่องว่าง”
ศักยภาพอีกมากในจีน
มอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวด้วยว่า ตลาดแบรนด์เนมที่เฟื่องฟูในเกาหลีใต้ เป็น “ตัวอย่างที่ดี” ที่อาจเกิดขึ้นในตลาดจีน ที่สินค้าแบรนด์เนมยังไม่แพร่หลาย นักวิเคราะห์กล่าวว่า สองประเทศมองคล้ายกันว่าสินค้าหรูเป็นตัวบ่งบอกสถานะ
ปัจจุบัน การใช้จ่ายซื้อสินค้าหรูต่อหัวประชากรเกาหลีใต้ยังคงสูงกว่าชาวจีนกว่า 6 เท่า
ในภาพรวมทั่วโลก แมคคินเซย์คาดว่าตลาดนี้จะโตระหว่าง 5-10% ในปี 2566 ได้แรงหนุนจากดีมานด์จากสหรัฐและจีน
“เราคาดว่าการเติบโตจะกลับคืนมาหลังจีนฟื้นตัวจากโควิดระลอกปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในไตรมาสแรก” ซิงกล่าวโดยสรุป