เวียดนามเนื้อหอมไม่หยุด! ‘บีวายดี’ เล็งสร้างโรงงานชิ้นส่วนรถ
‘บีวายดี ออโตโค’ บริษัทผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เล็งสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในเวียดนาม หวังลดการพึ่งพาจีน และใช้ซัพพลายเชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวระดับโลกมากขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าววงใน 3 รายว่า บีวายดีจะลงทุนทางภาคเหนือของเวียดนามมูลค่าเกิน 250 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,248 ล้านบาท) หลังจากแผนกอิเล็กโทรนิกส์ของบีวายดีผลิตแผงโซลาร์ในเวียดนามอยู่ก่อนแล้ว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำเทรนด์ในภาพกว้างของบีวายดีที่จะลดการพึ่งพาจีนระหว่างที่การค้าตึงเครียดกับสหรัฐ และการผลิตปั่นป่วนเพราะการล็อกดาวน์โควิดของรัฐบาลปักกิ่งช่วงก่อนหน้า
ด้านบีวายดีปฏิเสธจะให้ความเห็นกับรอยเตอร์
ทั้งนี้ บีวายดี ที่มีฐานปฏิบัติการในเมืองซีอาน ได้รับการสนับสนุนจากเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ผลิตทั้งรถไฮบริดปลั๊กอินและรถไฟฟ้าแท้ ๆ
ปี 2565 บีวายดีมียอดขายรถอีวีในจีนแซงหน้าเทสลากว่าสองต่อหนึ่ง ปัจจุบันกำลังขยายกิจการไปตามประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์และญี่ปุ่น รวมทั้งในยุโรป สิ่งที่เหมือนกับเทสลาคือบีวายดีควบคุมซัพพลายเชนส่วนมากไว้ได้รวมถึงการผลิตแบตเตอรี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้บีวายดีแตกต่างจากบริษัทผลิตรถยนต์หน้าเก่า
เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บีวายดีประกาศว่าจะสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย ผลิตได้ปีละ 150,000 คันตั้งแต่ปี 2567 การลงทุนในเวียดนามเป็นการเพิ่มศักยภาพ ควบคุมต้นทุน และสร้างความหลากหลายนอกเหนือจากจีนที่ความต้องการยังคงแข็งแกร่ง
ส่วนทำเลที่ตั้งโรงงานแหล่งข่าวเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจา การก่อสร้างจะเริ่มได้ภายในกลางปีนี้
ขยายโรงงาน 2 เท่าในเวียดนาม
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าส่วนประกอบชนิดใดที่บีวายดีจะผลิตในเวียดนาม และจะรวมแบตเตอรีและชุดแบตเตอรีด้วยหรือไม่
การลงทุนตามแผนการของบีวายดีและโครงการ 400 ล้านดอลลาร์จากบริษัทผลิตจอดิจิทัล “บีโออี” ที่รอยเตอร์รายงานไว้ในสัปดาห์นี้ คิดเป็นกว่าหนึ่งในสี่ของเม็ดเงิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ที่บริษัทจีนทั้งหมดลงทุนในเวียดนามในปี 2565
แม้แต่บริษัทสหรัฐอย่างแอ๊ปเปิ้ลอิงค์และซัพพลายเออร์อย่างฟ็อกซ์คอนน์ของไต้หวันและลักซ์แชร์ของจีน ต่างพยายามหาฮับการผลิตทางเลือกเช่นกัน โดยเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลัก
แหล่งข่าวเผยด้วยว่า บีวายดีกำลังหาเช่าที่ดิน 500 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากที่แผนกอิเล็กโทรนิกส์เช่าอยู่แล้ว 375 ไร่ โดยโรงงานในเวียดนามจะส่งชิ้นส่วนมาประกอบในโรงงานที่เมืองไทย
การปฏิบัติการในเวียดนามจะตอบสนองตลาดท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นบริการซ่อมบำรุงและอะไหล่ให้กับรถบีวายดีที่นำเข้าจากจีน นั่นจะเป็นการสร้างความท้าทายโดยตรงต่อวินฟาสต์ ผู้ผลิตรถอีวีเวียดนามที่เริ่มขายรถในปี 2562 และวางแผนขยายกิจการในสหรัฐและยุโรป
เมื่อเดือน ธ.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐพบว่า บีวายดีและบริษัทจีนรายอื่นๆ หลบเลี่ยงภาษีสหรัฐที่เก็บจากแผงโซลาร์เซลมานับสิบปี หากได้ข้อสรุปดังกล่าวในเดือน พ.ค. เท่ากับว่าบริษัทเหล่านั้นต้องถูกเก็บภาษีสินค้าที่ผลิตในเวียดนามและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ