ผู้นำเวียดนาม-นิวซีแลนด์ "ถึงเวลาต้องลาออก"
ผู้นำ 2 คนในประเทศเพื่อนบ้านและในละแวกเอเชียแปซิฟิก 2 ระบอบการปกครองในวิถีที่แตกต่าง เวียดนาม ลูกน้องทำผิดผู้นำต้องรับผิดชอบ นิวซีแลนด์ เมื่อพบว่าตนเองไปต่อไม่ได้ก็ให้คนที่เก่งกว่ามาทำหน้าที่แทน
2-3 วันที่ผ่านมา ผู้นำต่างประเทศลาออกไล่เลี่ยกันเห็นควรเป็นกรณีศึกษา เริ่มต้นจากวันที่ 17 ม.ค. ประธานาธิบดีเหวียน ซวนฟุก วัย 68 ปีของเวียดนาม ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด เพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำทางการเมือง ที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนกระทำความผิดสมัยเหวียนเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2559-2564 ก่อนมาเป็นประธานาธิบดี
ก่อนหน้านี้ไม่นาน รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม 2 คนคือ ฝ่าม บิงห์ มิงห์ และหวู ดึ๊ก ดาม ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในการกวาดล้างทุจริตในการรับมือโควิด-19 ที่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ถูกจับกุมหลายคน สองรองนายกฯ เจอข้อหา “ละเมิดวินัยพรรค” เวียดนามปกครองในระบอบพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ วินัยพรรคเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ถัดมา 1 วันในอีกประเทศหนึ่งซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเหมือนไทย นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์ ประกาศเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ช็อกคนทั้งประเทศว่าจะลาออกจากตำแหน่งผู้นำไม่เกินวันที่ 7 ก.พ. และจะไม่ลงเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่า “หมดไฟที่จะเป็นผู้นำประเทศต่อไป” ที่ลาออกไม่ใช่เพราะ “งานหนัก” แต่เป็นเพราะเธอเชื่อว่า “คนอื่นทำงานได้ดีกว่า”
หากย้อนดูประวัติของนายกฯ หญิงรายนี้ เธอได้รับเลือกตั้งในปี 2560 ด้วยวัย 37 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดในโลก การรับตำแหน่งของอาร์เดิร์นเรียกเสียงฮือฮากลายเป็นอาการคลั่งไคล้จาซินดา (Jacinda-mania) บนเวทีโลก
ในวาระการบริหารของนายกฯ อาร์เดิร์น นิวซีแลนด์เจอเรื่องร้าย ๆ มาหลายเรื่อง ที่จดจำกันได้มากที่สุดคือเหตุกราดยิงเพราะความเกลียดชังที่มัสยิดสองแห่งในเมืองไครส์ตเชิร์ช อาร์เดิร์นสวมผ้าคลุมศีรษะแสดงความเห็นใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างลึกซึ้งจริงใจไม่เสแสร้ง เหตุการณ์นี้นำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายอาวุธปืนในนิวซีแลนด์ แต่เสียงชื่นชมย่อมมีวันจืดจางนายกฯ หญิงถูกวิจารณ์อย่างหนักช่วงโควิด-19 ระบาด ตั้งแต่เรื่องการล็อกดาวน์ไปจนถึงบังคับฉีดวัคซีน
“นักการเมืองก็คน เราให้ทุกอย่างที่เราให้ได้ นานที่สุดเท่าที่เราทำได้ และแล้วเมื่อถึงเวลา ซึ่งสำหรับดิฉัน มันถึงเวลาแล้ว” ถ้อยคำจากปากของนายกฯ นิวซีแลนด์
นี่คือเรื่องราวของผู้นำ 2 คนในประเทศเพื่อนบ้านและในละแวกเอเชียแปซิฟิก 2 ระบอบการปกครองในวิถีที่แตกต่าง เวียดนาม ลูกน้องทำผิดผู้นำต้องรับผิดชอบ นิวซีแลนด์ เมื่อพบว่าตนเองไปต่อไม่ได้ก็ให้คนที่เก่งกว่ามาทำหน้าที่แทน ง่าย ๆ แต่ชัดเจน ก็ขอปรบมือให้กับผู้นำทั้งสองด้วยเชื่อว่าที่ผ่านมาท่านทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว
สปิริตแบบนี้ควรดูเป็นตัวอย่าง เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ใครได้อำนาจก็อยากเป็นผู้นำกันนาน ๆ ทั้งนั้น ไม่กำหนดวาระได้ยิ่งดี คิดแต่ว่าตนเองเลิศที่สุด โดยลืมไปว่าคนอื่นเขาก็เลิศเหมือนกัน