หน้าปัดนาฬิกาวันสิ้นโลกชี้อีก 90 วินาทีจะถึงจุดหายนะ - โลกาวินาศ
โลกเหลือเวลาเพียง 90 วินาทีก่อนที่เข็ม “นาฬิกาวันสิ้นโลก” (Doomsday Clock) จะชี้เวลาเที่ยงคืน อันเป็นการสิ้นสุดของโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.(ตามเวลาท้องถิ่น) สมาชิกคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของวารสารนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม (Bulletin of the Atomic Scientists) หรือบีเอเอสในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐ ขยับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกไว้ที่ 90 วินาที หรือ 1 นาที 30 วินาที ก่อนเที่ยงคืน
ถือเป็นเวลาที่สั้นที่สุดในรอบ 3 ปี หลังจากเข็มนาฬิกาคงอยู่ที่ 100 วินาที หรือ 1 นาที 40 วินาทีก่อนเที่ยงคืนมาตั้งแต่ปี 2563
ส่วนการปรับเข็มนาฬิกาแห่งวันสิ้นโลกในปี 2566 ให้เร็วขึ้น เนื่องจากหลายปัจจัยที่คุกคามโลกอย่างหนักทั้งจาก ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า หิมะตกหนัก สภาพอากาศที่เลวร้ายสุดขั้ว
รวมทั้งอาจเกิดสงครามนิวเคลียร์ จากการที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงดำเนินต่อไป ที่จะไปสู่ความเสียหายอย่างหนักประชาชนหลายพันล้านคนอาจเสียชีวิต
เนื่องจากผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกซึ่งรุนแรงขึ้นทุกปี อันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความอดอยากครั้งใหญ่และภัยพิบัติอื่น ๆ
บทความจาก ดร.ไสว บุญมา เมื่อปี 2564 เคยอธิบายเรื่องนาฬิกาแห่งวันสิ้นโลก โดยสรุปดังนี้
"Doomsday Clock หรือบางคนเรียกว่านาฬิกาแห่งวันโลกาวินาศ เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนการอ่านสถานการณ์โลกของนักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณู สัญลักษณ์นี้ ถูกประกาศออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2490 หรือ 2 ปีหลังวันที่สหรัฐนำอาวุธปรมาณูไปถล่มเมืองฮิโรชิมาและเมืองนากาซากิ ส่งผลให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
- MOONFALL นับถอยหลังสู่วันสิ้นโลกกับหนังหายนภัยเข้ากระแส "ไมโครฟูลมูน"
- พบครอบครัวดัตช์หลบใต้ดิน 9 ปี 'รอวันสิ้นโลก'
- เผยโฉมที่หลับภัยวันสิ้นโลกระดับ ‘ไฮเอนด์’
แม้อานุภาพทำลายล้างของพลังปรมาณูที่ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นแรกครั้งนั้นจะสูงเกินจินตนาการ แต่นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่านั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นของการสร้างอาวุธมหาประลัย ซึ่งในวันหนึ่งข้างหน้าจะสามารถเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกได้ภายพริบตา พวกเขาจึงสรุปออกมาเป็นครั้งแรกว่า โลกมีเวลาอีก 7 นาทีก่อนที่จะถึงวันสิ้นโลก
นาฬิกาดังกล่าวมิได้สะท้อนเฉพาะผลร้ายของอาวุธมหาประลัยเท่านั้น หากครอบคลุมผลร้ายของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากความเข้าใจอันถ่องแท้ด้วย
ดร.ไสวเสนอให้เรียกผลร้ายดังกล่าวว่า “คำสาปของเทคโนโลยี” (The Curse of Technology) แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ
ทุกปี นักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จะประเมินสภาพความเสี่ยงของโลกและแถลงว่านาฬิกาถอยห่างออกมา หรือว่าเดินเข้าไปใกล้วันสิ้นโลก
ในช่วงเวลา 74 ปี นาฬิกาถอยห่างจากวันสิ้นโลกมากที่สุดเป็นเวลา 17 นาทีเมื่อปี 2538 ในปีนั้น สหรัฐและสหภาพโซเวียตบรรลุข้อตกลงด้านการลดอาวุธนิวเคลียร์และก่อนสิ้นปีสหภาพโซเวียตแตกสลายกลายเป็น 15 ประเทศ
เมื่อต้นปี 2564 นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนั้นแถลงว่า เหลือเวลาอีกเพียง 100 วินาทีก่อนที่วันสิ้นโลกจะมาถึง นอกจากอาวุธมหาประลัยแล้ว ปัจจัยที่ทำให้โลกเข้าใกล้วันดังกล่าวมากที่สุดคือ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอันเกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะประกาศการอ่านสภาพการณ์อีกครั้งต้นปีหน้า"
“นาฬิกาวันสิ้นโลก” คืออะไร
นาฬิกาวันสิ้นโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานจดหมายข่าวฯ ในมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2490 หรือราว 76 ปีที่แล้ว โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
พวกเขาตั้งเข็มนาฬิกาไว้ที่เวลา 7 นาทีก่อนเที่ยงคืน เพื่อเตือนถึงความเสี่ยงที่มนุษยชาติอาจถูกทำลายจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น
ด้วยแนวคิดที่ว่า จะดีแค่ไหนถ้าเรารู้จุดสิ้นสุดของโลก จะดีแค่ไหนถ้ามีอะไรสักอย่างคอยบ่งบอกว่า เมื่อไหร่ที่มนุษยชาติกำลังจะถึงจุดสิ้นสุดเผ่าพันธุ์ สิ่งย้ำเตือนถึงหายนะที่มาจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเหล่านี้ อาจจะทำให้เราเรียนรู้ที่จะแก้ไขและป้องกัน
ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกกันทุกปี โดยนำข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงต่อโลกและมวลมนุษยชาติในแต่ละปีมาคำนวณเพื่อปรับเข็มนาฬิกา
ในช่วงแรก นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนบ่งบอกความเสี่ยงจากสงครามนิวเคลียร์ แต่ปัจจุบัน ปัจจัยความเสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณหายนะของมนุษยชาติ ประกอบด้วย วิกฤติและมหันตภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลก
ไม่ว่าจะเป็น ภัยสงคราม ภัยนิวเคลียร์ ภัยธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) ภัยจากเทคโนโลยี หรือแม้แต่การเผชิญหน้าและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามที่สั่นคลอนโลกและมนุษย์
ดังนั้น นาฬิกาวันสิ้นโลก จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์เชิงสัญลักษณ์ที่จะคอยย้ำเตือนถึงมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้น เป็นมาตรวัดเพื่อบ่งบอกว่า มนุษย์กำลังเข้าใกล้หายนะระดับวันสิ้นโลก (Global Catastrophe) ที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์มากน้อยขนาดไหน
“จุดหายนะ” เวลา 00.00 น. หรือเที่ยงคืน
นาฬิกาดังกล่าวมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่เวลา 00.00 น. หรือเที่ยงคืน ที่นับว่าเป็น “จุดหายนะ” โดยจะมีคณะกรรมการคอยพิจารณาและขยับเข็มนาฬิกา เมื่อเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น เช่น มีสงครามความขัดแย้ง หรืออะไรก็ตามที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์
เข็มนาฬิกาจะขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนมากขึ้น แต่ถ้าหากสถานการณ์คลี่คลายลง เข็มนาฬิกา ก็จะขยับออกห่างจากเที่ยงคืน และหากเมื่อใดก็ตามที่เข็มนาฬิกาชี้ไปที่เวลา “เที่ยงคืน” นั่นเท่ากับว่าวันโลกาวินาศได้มาถึงแล้ว
ในอดีตเคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกขยับครั้งสำคัญอยู่หลายครั้ง แต่ก็เป็นที่สังเกตว่า เข็มเข้าใกล้เที่ยงคืนในระดับ “นาที” ไม่ใช่ระดับ “วินาที” เช่นในปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง
- ปี 2490 หรือปีแรกของ Doomsday Clock เข็มนาฬิกาถูกตั้งไว้ที่ 23:53 น. หรือ 7 นาทีก่อนถึงเที่ยงคืน เนื่องจากในยุคนั้น โลกอ่วมหนักด้วยบาดแผลจากสงคราม บางประเทศถือโอกาสนี้ เริ่มทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และพยายามหามาไว้ในครอบครองเพื่อที่ประเทศของตนจะได้เป็นผู้นำของโลก เพราะช่วงนั้น “อาวุธนิวเคลียร์” คือเครื่องหมายของการมีอำนาจ
- ปี 2492 นาฬิกาถูกปรับเป็นเวลา 23:57 น. หรือ อีก 3 นาทีจะถึงเที่ยงคืน เพราะสหภาพโซเวียต “ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก” และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
- ปี 2496 เข็มเคลื่อนไปยังเวลา 23:58 น. หรืออีก 2 นาทีจะถึงเที่ยงคืน ถือเป็นช่วงเวลาที่ใกล้วันโลกาวินาศมากที่สุดในยุคสงครามเย็น เพราะช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างทดลองอุปกรณ์เทอร์โมนิวเคลียร์ ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน บ่งบอกความพร้อมที่จะทำสงคราม
- ปี 2534 นาฬิกาถูกถอยกลับมาเป็นเวลา 23:43 น. หรืออีก 17 นาทีจะถึงเที่ยงคืน นับเป็นช่วงเวลาที่เข็มนาฬิกาอยู่ห่างจากเที่ยงคืน หรืออยู่ห่างจากวันสิ้นโลกมากที่สุด จากการที่สหภาพโซเวียตล่มสลายและสงครามเย็นถึงจุดสิ้นสุด
- ปี 2565 เข็มนาฬิกาถูกตั้งไว้ที่ 23:58 น. กับอีก 20 วินาที ซึ่งแปลว่า โลกเหลือ 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืนเท่านั้น
- ปี 2566 เข็มนาฬิกาอยู่ที่อีก 90 วินาทีจะเที่ยงคืน เหตุความเสี่ยงภัยคุกคามจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนผิดธรรมชาติ