ส่องมงกุฎราชินีคามิลลา เลี่ยงบาดแผลอาณานิคม

ส่องมงกุฎราชินีคามิลลา เลี่ยงบาดแผลอาณานิคม

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค.ถือเป็นงานมงคล หลังจากราชวงศ์อังกฤษมีเรื่องฉาวหลายเรื่องในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเมื่อมีงานใหญ่ก็ต้องมีเรื่องให้จับตา

สำนักพระราชวังบัคกิงแฮม แถลงว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรจะมีขึ้นในสุดสัปดาห์ที่ตรงกับวันที่ 6-8 พ.ค.2566พระราชพิธีจัดที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ กิจกรรมมีทั้งพิธีการ งานเฉลิมฉลอง และกิจกรรมชุมชน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับ “ประชาชนได้มาร่วมเฉลิมฉลองด้วยกันในวาระประวัติศาสตร์”

กษัตริย์ชาร์ลส พระชนมพรรษา 74 พรรษา ทรงครองราชย์ทันทีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระชนมพรรษา 96 พรรษา  สวรรคตเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565   หลังจากทรงครองราชย์ทุบสถิติ 70 ปี ซึ่งนอกจากสืบทอดบัลลังก์อังกฤษแล้วกษัตริย์ชาร์ลสยังทรงเป็นประมุขประเทศในเครือจักรภพอีก 14 ประเทศด้วย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา 

ไฮไลต์สำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่วันที่ 6 พ.ค. กษัตริย์ชาร์ลสและสมเด็จพระราชินีคามิลลา พระชนมพรรษา 75 พรรษา จะทรงมงกุฎกษัตริย์-ราชินีอย่างเป็นทางการ ควีนคามิลลาจะทรงมงกุฎองค์ไหนเป็นที่น่าจับตา  นักเขียนเรื่องราวในราชสำนักรายหนึ่งอ้างว่า กษัตริย์ชาร์ลสมีพระประสงค์ให้ราชินีทรงมงกุฎองค์เดียวกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธหรือควีนมัม พระราชชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์จอร์จที่ 6 ในปี 1937 แต่นักวิจารณ์เตือนวังว่า นี่จะเป็น “ระเบิดทางการทูตลูกใหญ่” ทั้งนี้เพราะมงกุฎองค์ดังกล่าวมีเพชรโคห์อินัวร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพชรน้ำหนัก 105 กะรัตเม็ดนี้ ประดับบนมงกุฎราชินีอังกฤษตกแต่งด้วยอัญมณีอื่นอีก 2,800 ชิ้น หากควีนคามิลลาทรงย่อมเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำอันแสนเจ็บปวดจากยุคอาณานิคม อย่าลืมว่า หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต คำว่า “เพชรโคอินัวร์” กลายเป็นคำติดเทรนด์ทวิตเตอร์อินเดีย

ส่องมงกุฎราชินีคามิลลา เลี่ยงบาดแผลอาณานิคม

เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาเพชรโคอินัวร์ถูกครอบครองเปลี่ยนมือไปหลายเจ้า ตั้งแต่เจ้าชายแห่งจักรวรรดิโมกุลหลายพระองค์ ขุนศึกอิหร่านหลายนาย ผู้ปกครองมากหน้าแห่งอัฟกานิสถาน และมหาราชาหลายพระองค์ในปัญจาบ จนกระทั่งตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษเมื่อราวกลางศตวรรษที่ 19 และทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ประดับที่ยอดมงกุฎ จัดแสดงที่หอคอยลอนดอน คนอินเดียจำนวนมากเชื่อว่าอังกฤษโจรกรรมเพชรเม็ดนี้มาจากพวกเขา 

ส่องมงกุฎราชินีคามิลลา เลี่ยงบาดแผลอาณานิคม

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเรื่องอื้อฉาวระหว่างประเทศ สมเด็จพระราชินีคามิลลาอาจไม่ทรงมงกุฎที่มีเพชรมรณะโคอินัวร์ ดังนั้นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้คือมงกุฎที่ราชินีอะดิเลดเคยทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์วิลเลียมที่ 4 ในปี 1831 ด้วยวิธีนี้สมเด็จพระราชินีคามิลลาจะยังทรงสานต่อโบราณราชประเพณี ทรงอัญมณีที่ราชินีพระองค์ก่อนหน้าเคยทรง แต่ไม่ต้องตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะมงกุฎองค์นี้ประกอบด้วยอัญมณีส่วนพระองค์ของควีนอะดิเลด ไม่มีอัญมณีที่ขโมยมาจากประเทศอื่น หลังพิธีบรมราชาภิเษกเพชรทุกเม็ดถูกถอดออก เท่ากับว่าควีนคามิลลาทรงสามารถใส่อัญมณีชิ้นใดก็ได้ที่มีความหมายต่อพระองค์ลงบนมงกุฎองค์นี้

นับตั้งแต่ควีนอะดิเลด ราชินีอังกฤษผู้ทรงเป็นพระมเหสีทุกพระองค์ทรงมีมงกุฎพิเศษทำขึ้นเพื่อพระองค์โดยเฉพาะ แทนการทรงมงกุฎที่พระราชินีพระองค์ก่อนๆ เคยทรง ไม่ว่าจะเป็นควีนอเล็กซานดรา (ในกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7) ควีนแมรี (ในกษัตริย์จอร์จที่ 5) และควีนมัม แต่ไม่มีทีท่าว่าควีนคามิลลาจะทรงเลือกทางเลือกนี้ เนื่องจากประชาชนจะไม่พอใจท่ามกลางวิกฤติค่าครองชีพ

มงกุฎของควีนอะดิเลดปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกองงานสะสมศิลปะหลวงของราชวงศ์อังกฤษ (Royal Collection) จัดแสดงให้สาธารณชนชมที่มาร์ตินทาวเวอร์ ณ หอคอยลอนดอนมาตั้งแต่ปี 1996

มูลค่าในปี 1995 อยู่ที่ 425,000 ปอนด์ หากเทียบเป็นราคาปี 2566 อยู่ที่ราว 1 ล้านปอนด์ 

ในทางตรงข้ามมงกุฎฉาวที่มีเพชรโคอินัวร์ทำขึ้นถวายแด่ควีนมัมโดยเฉพาะเพื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 1937 เว็บไซต์ดิเอกซ์เพรสรายงานว่า เพชรโคอินัวร์ถูกบริษัทอีสต์อินเดียยึดมาแล้วถวายแด่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในศตวรรษที่ 19 นักวิจารณ์กล่าวว่า หากใช้มงกุฎองค์นี้อาจกลายเป็นเครื่องเตือนใจอันไม่น่ายินดีถึงจักรวรรดิอังกฤษ

เข้าใจว่าสำนักพระราชวังกำลังพิจารณาว่า ควีนคามิลลาควรทรงอัญมณีชิ้นนี้หรือไม่ขณะประกอบพระราชพิธีสวมมงกุฎเคียงข้างสมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีจากสตีเวน สโตร์ ร้านเพชรดังของอังกฤษจับตามงกุฎองค์นี้อย่างใกล้ชิด แล้วแบ่งปันข้อมูลทุกอย่างให้แฟนคลับทราบรวมถึงมูลค่า

บริษัท Maxwell Stone ระบุ "ยากเหลือเกินที่จะบอกราคาข้าวของในประวัติศาสตร์เช่นนี้ แม้ว่ากันว่าเฉพาะเพชรโคอินัวร์จะมีมูลค่าถึง 591 ล้านปอนด์ ตัวมงกุฎน่าจะมีราคาที่ราว 1 พันล้านปอนด์

ด้วยเพชรที่เจียระไนแบบเหลี่ยมเกสร 2,203 เม็ด และเพชรซีกเหลี่ยมลูกโลก 662 เม็ด มงกุฎองค์นี้เป็นงานละเอียดจริงๆเป็นที่รู้กันดีว่า เพชรเหลี่ยมเกสรนั้นน้ำงามระยิบระยับ ส่วนเหลี่ยมลูกโลกหาได้ยากกว่า

จากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเพชรเม็ดนี้ จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจหากนำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กองงานสะสมศิลปะหลวงของราชวงศ์อังกฤษเต็มไปด้วยอัญมณีงดงาม เป็นไปได้ว่าทั้งกษัตริย์และพระราชินีจะถอดเพชรนี้ออกแล้วนำเพชรอื่นใส่ทดแทน"

นับจากวันนี้เหลือเวลาสี่เดือนจะถึงวันราชาภิเษกคิงชาร์ลส ยังมีเวลาให้ควีนคามิลลาตัดสินพระทัยว่าจะทรงมงกุฎองค์ใด เชื่อแน่ว่าสิ่งที่พระองค์เลือกย่อมมีความหมายให้เหล่าคนติดตามราชวงศ์อังกฤษเฝ้าคอยข่าวอย่างใจจดใจจ่อ