แผ่นดินไหว ‘ตุรกี-ซีเรีย’ เทียบ ‘ญี่ปุ่น’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
เป็นข่าวที่น่าเศร้ามากเมื่อทราบว่า ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในตุรกี-ซีเรีย ทะลุ 16,000 รายแล้ว (ณ เวลา 13.30 น. วันที่ 9 ก.พ.66)
แผ่นดินไหว ล่าสุดที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของซีเรีย ซึ่งปัจจุบันมีสงครามกลางเมืองที่พิพาทกันมาแล้วกว่า 12 ปี และทางตะวันตกของตุรกี ถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของภูมิภาคนี้ ด้วยความรุนแรงขนาด 7.8 ซึ่งมีการประมาณการถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาตินี้กว่า 13.5 ล้านคน
ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวหากวัดในมาตราแบบเดิมคือหน่วยริกเตอร์แล้ว สามารถแบ่งได้คร่าวเป็น 6 ระดับ ไล่จากน้อยไปมาก และระดับสูงสุดอยู่ที่ 8.0 ขึ้นไป ซึ่งก็เคยเกิดที่ตุรกีและถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดของประเทศ ณ เมืองเอร์ซินจาน เมื่อปี 2482 ด้วยระดับความแรงถึง 8.0 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 32,968 ราย คนบาดเจ็บและบ้านเรือนพังทลายเรือนแสน
ทำเลที่ตั้งของตุรกีที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก จึงทำให้มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง โดยในระยะ 120 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2443 ตุรกีเจอแผ่นดินไหวในระดับกลางที่ 5.0 ขึ้นไปแล้วประมาณ 60 ครั้ง หรือพูดได้ว่าเฉลี่ยทุก 2 ปีจะมีแผ่นดินไหว 1 ครั้ง และก็คร่าชีวิตพลเมืองตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น
ความรุนแรงระดับ 7.8 นี้พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ หากคุณอยู่ในอาคารที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับความรุนแรงของแผ่นดินไหวขนาดนี้แล้ว ตึกก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะถล่มลงมา และนี่คือเหตุผลว่าทำไมคำแนะนำในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัตินี้คือการหาที่กำบัง ซึ่งก็อาจจะเพิ่มอัตรารอดชีวิตขึ้นได้บ้าง แต่ปัจจัยสำคัญในการรอดชีวิตนั้นมาจากการกู้ภัยที่ทันเวลา
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเวลาเกิดภัยพิบัติแล้วนานาชาติจึงร่วมใจกันเสนอความช่วยเหลือ เพราะทุกนาทีล้วนมีค่า ขณะนี้ทางการตุรกีได้ระดมทีมช่วยเหลือกว่า 12,000 คน พร้อมกับทหารอีกกว่า 9,000 นาย เพื่อทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และขณะนี้นานาชาติกว่า 70 ประเทศก็ได้เสนอการช่วยเหลือแก่รัฐบาลตุรกีแล้ว
ขณะที่ซีเรียซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทและมีการสู้รบทางการเมืองนั้นมีความยากลำบากและซับซ้อนกว่าตุรกี ถนนหนทางที่ถูกทำลายลงเพื่อสกัดกั้นกำลังสู้รบของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกลับกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งกำลังความช่วยเหลือลงพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างที่สุด
หากเปรียบเทียบกรณีการเกิดภัยพิบัติที่ซีเรีย-ตุรกีนี้กับญี่ปุ่น เพราะถือได้ว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกอันที่จะมีมีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวและเกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จะพบว่าการเตรียมการทั้งในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง ถนน ระบบเตือนภัย อาคารสำหรับหลบภัย
การเตรียมรับมือภัยพิบัตินั้นฝังรากลึกอยู่ในความคิดของคนญี่ปุ่นจนกลายเป็นวัฒนธรรมและพฤติกรรมในการดำรงชีวิต อาทิ การกักตุนน้ำและอาหารแห้งไว้จำนวนหนึ่งในบ้าน หรือแม้กระทั่งการถอดรองเท้าหันหน้าออกจากบ้านเพื่อพร้อมรับกับการหนีภัยพิบัติด้วยความรวดเร็ว
ผู้อ่านคงแปลกใจว่า ในเมื่อตุรกีก็เจอแผ่นดินไหวบ่อยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่ทำไมการตระเตรียมความพร้อมจึงได้ต่างกันอย่างลิบลับ ผมขอยกตัวอย่างอีกประเทศหนึ่ง ก็คือไทยเรานั่นเอง ที่เรามีความเสี่ยงต่ำมากในภัยพิบัติเหล่านี้ แต่กลับมีผู้เสียชีวิตเรือนหมื่นทุกปีบนท้องถนน เรียกได้ว่าติดอันดับต้น ๆ ของโลก
อุบัติเหตุทางถนนของเราคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 20,000 รายทุกปี เป็นเช่นนี้มาตลอดไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะไม่ใช่คำตอบโดยตรง แต่ก็คงพออนุมานได้ว่า ทำไมมนุษย์เรานั้นจึงไม่เรียนรู้จากอดีตเลย