‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก

“เจ้าชายน้อย” หนังสือวรรณกรรมระดับโลกที่มีสเน่ห์ในเนื้อหาและภาพประกอบ ขณะนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลกกว่า 380 ภาษา ใน 62 ประเทศ รวมถึงภาษาถิ่นในประเทศไทย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลก และตอกย้ำความภาคภูมิใจในภาษาแต่ละชนชาติ

สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ” นักเขียนอิสระและผู้ริเริ่มโครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เล่าว่า ส่วนตัวชื่นชอบและรักการสะสมวรรณกรรมเรื่อง “เจ้าชายน้อย” ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มานานกว่า 10 ปี กระทั่งปี 2559 เขาได้มีโอกาสไปร่วมงานฉลอง 70 ปีครองสิริราชสมบัติสมเด็จพระชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ได้พบปะพูดคุยกับ"ฌ็อง-มาร์ก พร็อพสต์" นักสะสมหนังสือเจ้าชายน้อยมากที่สุดในโลกและผู้ก่อตั้ง มูลนิธิฌ็อง-มาร์ก พร็อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) 

ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้มีการแปลวรรณกรรมเอกเรื่องนี้เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วรรณกรรมเจ้าชายน้อย ของ "อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูเปรี" (Antoine de Saint Exupéry) นักบินชาวฝรั่งเศสและนักเขียนผู้ชื่อเสียงระดับนานาชาติ

 

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก

 

“เจ้าชายน้อย เป็นวรรณกรรมเล่มบางๆ ที่สื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงเรื่องความรัก มิตรภาพ และเอื้ออาทรต่อกัน ผ่านตัวละคร ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ได้เดินทางไปตามดวงดาวที่เขาเองไม่เคยพบเห็นมาก่อน ทั้งผู้คน ดอกกุหลาบ สุนัขจิ้งจอก ฯลฯ "

 "การเปรียบเปรยจากบทสนทนาของตัวละคร ที่ผู้อ่านจะเป็นผู้ตีความจากความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของตนเอง ดังนั้นการเข้าถึงความหมายของวรรณกรรมเรื่องนี้อาจแตกต่างกันออกไป เจ้าชายน้อยจึงไม่ใช่หนังสือ How to หรือแบบ Life Coach ที่บอกแนวคิดต่างๆ แต่เป็นหนังสือที่ตั้งคำถาม เมื่อได้อ่านแล้วผู้อ่านจะตระหนักถึงความหมายต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งจะว่าไปก็ล้วนแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทั้งสิ้น” สุพจน์เล่า

 

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก

 

เจ้าชายน้อย เวอร์ชั่นภาษาถิ่นในไทย

สุพจน์ บอกอีกว่า "ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรามีภาษาถิ่นกว่า 70 ภาษา จึงน่าสนใจไม่น้อยที่ทำหนังสือวรรณกรรมระดับโลกอย่างเจ้าชายน้อยมาเพื่อเผยแพร่โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิของฌ็อง-มาร์ก เพื่อแจกจ่ายหนังสือไปยังสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนภาษาถิ่นนั้นๆ ตอนนี้เราตีพิมพ์และแจกจ่ายไปแล้วทั้งหมด 4 ภาษา คือ ล้านนา ปกาเกอะญอ มลายูอักษรยาวีและ เขมรถิ่นไทย หรือเขมรสุรินทร์"

"จากความฝันของเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการแบ่งปันและเผยแพร่วรรณกรรมที่พวกเขารักไปยังเยาวชนตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 6 ปีกว่าที่โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นได้เริ่มขึ้น มิได้สนใจเรื่องการอนุรักษ์ภาษาถิ่นเท่านั้น เรื่องราวของวรรณกรรมเรื่องนี้ยังได้ถูกต่อยอดไปเรื่องการศึกษา ศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่น การส่งเสริมท่องเที่ยว รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย"

 

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก
 

“โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นไม่ได้เพียงแจกจ่ายหนังสือเจ้าชายน้อยเท่านั้น เรายังได้มีโอกาสได้ทำงานกับหน่วยงานทางการศึกษาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้วยการจัดงานเปิดตัวหนังสือตามภูมิภาคต่างๆ ที่เราแปลหนังสือ เพื่อให้เด็กๆ ที่เรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาถิ่นนั้นได้มีโอกาสแสดงความสามารถในการอ่านและการเขียน

รวมถึงจัดนิทรรศการหนังสือเจ้าชายน้อยภาษาต่างๆ จากทั่วโลกสัญจร เพื่อให้เด็กๆ ในต่างจัดหวัดได้มีส่วนร่วมด้วย ตลอดจนรายได้บางส่วนจากการขายหนังสือเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น ยังมอบให้เป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษาตามมหาวิทยาลัย และมอบเงินทุนเพื่อซื้อหนังสือนิทานให้แก่โรงเรียนชั้นประถมศึกษาอีกด้วย" สุพจน์ กล่าว

 

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก

 

วรรณกรรมทักถอสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

นักเขียนอิสระ กล่าวด้วยว่า "ในด้านศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่น เราได้ทำงานร่วมกับศิลปินพื้นเมืองและนักศึกษาให้มีการทอผ้าพื้นเมืองลายเจ้าชายน้อย เช่น ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม และ ผ้าไหมมัดหมี่สุรินทร์ที่มีชื่อเสียง จนได้ผ้าไหมมัดหมี่ลายเจ้าชายน้อย ผืนแรกของโลก ถึงวันนี้ โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นได้เดินทางไปเกือบทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว ภาษาถิ่นภาษาต่อไป ก็น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ ภาษามอแกน"

“เรากำลังดำเนินการแปลภาษามอแกน เพื่อร่วมอนุรักษ์ภาษาถิ่นของชาวเลที่น่าสนใจอีกภาษาหนึ่งของไทย นอกจากมูลนิธิฌ็อก-มาร์ก ฯ แล้ว เรายังได้ลองร็องส์ เพียน (Laurence Pian) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิญานแอนด์ออสก้า (Fondation Jan & Oscar) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมูลนิธิอองตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี ( Fondation Antoine de Saint Exupéry) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเข้ามาร่วมสนับการทำงานครั้งนี้ด้วย”

 

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก

 

สุพจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากประสบการณ์การทำงานในโครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น ทำให้รู้ว่า หนังสือดีๆ สักเล่มไม่ได้มีประโยชน์แต่ในเรื่องวรรณกรรมเท่านั้น หากแต่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจและคุณประโยชน์ให้กับผู้คนได้อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ส่งเสริมให้ผู้คนตะหนักถึงเรื่องความรัก มิตรภาพและการเอื้ออาทรต่อกัน อย่างที่เจ้าชายน้อยและเราทุกคนบนโลกใบนี้ปรารถนาอย่างยิ่ง”

 

‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาถิ่น มนต์เสน่ห์เชื่อมโยงคนทั่วโลก