ถอดรหัส 'สงครามนิวเคลียร์’ โอกาสเกิด มีแค่ไหน?
สงครามนิวเคลียร์กลายเป็นประเด็นขึ้นเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ดิมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียจอมโผงผาง ผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เตือนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ถ้ารัฐบาลมอสโกพ่ายแพ้ในยูเครนอาจก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์
เว็บไซต์อัลจาซีรารายงาน เมดเวเดฟอดีตประธานาธิบดีรัสเซียระหว่างปี 2551-2555 ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงอันทรงอำนาจของปูติน โพสต์ในแอพพลิเคชันส่งข้อความเทเลแกรม
“ความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจนิวเคลียร์ในสงครามตามรูปแบบอาจกระตุ้นให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ มหาอำนาจนิวเคลียร์ไม่เคยพ่ายแพ้ในความขัดแย้งครั้งใหญ่”
ด้านรัฐบาลเครมลินรับลูกเมดเวเดฟทันทีว่า รัฐบาลจะปฏิบัติการตามหลักการของรัสเซียที่อนุญาตให้โจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้ หลังมีการใช้อาวุธดั้งเดิมรุกรานสหพันธรัฐรัสเซียจนเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่
ทั้งนี้ เมดเวเดฟ วัย 57 ปี เคยนำเสนอตนเองว่าเป็นนักปฏิรูปผู้พร้อมทำงานกับสหรัฐเพื่อเปิดเสรีรัสเซีย ปัจจุบันปรับภาพลักษณ์ใหม่เป็นคนวงในของปูตินที่พูดจาสายเหยี่ยวที่สุดเวลาออกสื่อ
นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 เมดเวเดฟพูดถึงความโกลาหลจากภัยคุกคามนิวเคลียร์หลายครั้ง และกล่าวถึงชาติตะวันตกอย่างดูแคลน นับถึงขณะนี้รัสเซียและสหรัฐเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่สุดของโลก ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ราว 90% ของทั้งโลก
ข้อมูลจากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเผยว่ารัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ 5,977 ลูก สหรัฐ 5,428 ลูก จีน 350 ลูก ฝรั่งเศส 290 ลูก และสหราชอาณาจักร 225 ลูก
ในฐานะประธานาธิบดี ปูตินคือผู้ตัดสินใจสูงสุดของรัสเซียในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลวอชิงตันไม่ได้เผยรายละเอียดว่าจะทำอะไรถ้าปูตินสั่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกในสงครามนับตั้งแต่สหรัฐเคยใช้โจมตีเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นในปี 1945
สำหรับนาโตแม้มีอาวุธตามรูปแบบเหนือกว่ารัสเซีย แต่ในแง่อาวุธนิวเคลียร์รัสเซียเหนือกว่านาโต
คำขู่ใช้นิวเคลียร์ของรัสเซียทำให้วอชิงตันตึงเครียดกันมาก รายงานข่าวกรองสหรัฐระบุด้วยว่า ผู้นำทหารรัสเซียหารือกันเรื่องใช้อาวุธนิวเคลียร์ เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ความกังวลเรื่องนี้ยังคงมีอยู่แต่ไม่ตึงเครียดเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากหลายปัจจัย กล่าวคือ การสู้รบในสมรภูมิเสถียรขึ้น จีนเตือนเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ การสื่อสารระหว่างมอสโกและวอชิงตันดีขึ้น อีกทั้งสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เข้ามาทำหน้าที่ในยูเครนมากขึ้น
แม้แนวโน้มเหตุการณ์บานปลายไปถึงขั้นใช้นิวเคลียร์ยังคงมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของสหรัฐเมื่อพิจารณาถึงการส่งอาวุธทันสมัยให้ยูเครน แต่ผ่านไปเกือบหนึ่งปี ผู้กำหนดนโยบายอเมริกันและนักวิเคราะห์ข่าวกรองมั่นใจมากขึ้นว่า อย่างน้อยพวกเขาก็เข้าใจเส้นแดงของปูตินบ้างแล้ว รู้ว่าการสนับสนุนยูเครนแบบไหนที่รัสเซียจะแถลงการณ์ประณาม และแบบไหนเสี่ยงถูกตอบโต้รุนแรงกว่า
ปรับนาฬิกาวันสิ้นโลก
แม้ยังไม่มีสัญญาณว่ารัสเซียระดมอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในเดือน ม.ค.สมาชิกคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของวารสารนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม (Bulletin of the Atomic Scientists) ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐขยับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกไว้ที่ 90 วินาที หรือ 1 นาที 30 วินาที ก่อนเที่ยงคืน
ด้วยมองว่า การทำลายล้างมวลมนุษยชาติใกล้เข้ามามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
“ภัยคุกคามกลายๆ ของรัสเซียที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เตือนโลกว่าหากความขัดแย้งบานปลายไม่ว่าจะโดยอุบัติเหตุ เจตนา หรือคำนวณพลาด เป็นความเสี่ยงที่น่าสะพรึงกลัวมาก” นักวิทยาศาสตร์ระบุ
ควบคุมอาวุธล้มเหลว
ภัยคุกคามนิวเคลียร์กลับมาอีกครั้งไม่ใช่แค่เพราะรัสเซียรุกรานยูเครน แต่สนธิสัญญาควบคุมอาวุธระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตที่ใช้บรรเทาความตึงเครียดยุคสงครามเย็นตายหรือล่มไปแล้วด้วย
สนธิสัญญาจรวดต่อต้านขีปนาวุธ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาสำคัญในปี 1972 ล่มสลายลงในปี 2002
ปี 2019 สหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญาจำกัดขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง อ้างว่ารัสเซียละเมิดคำมั่นและในปีที่ผ่านมาสนธิสัญญาจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียเมื่อปี 2011 ล่มลงวอชิงตันกล่าวหาอีกครั้งว่ามอสโกไม่ปฏิบัติตาม
นิวเคลียร์ไม่ได้ให้ความมั่นคง
พาเวล พอดวิก นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อการวิจัยปลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ มองในเชิงย้อนแย้ง คำขู่ของรัสเซียอาจทำให้โลกปลอดภัยขึ้นเล็กน้อย ด้วยการเตือนใจคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยคิดถึงอันตรายจากวันสิ้นโลกเพราะนิวเคลียร์มาก่อน
ประการแรกรัสเซียอาจคำนวณแล้วว่าตนสามารถเริ่มและจบสงครามในยูเครนได้อย่างรวดเร็วเพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่เมื่อมาปะทะกับการสนับสนุนของนาโตที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ความขัดแย้งนี้อาจช่วยให้เห็นว่าอาวุธนิวเคลียร์ “ล้าสมัย” ไปแล้ว รัสเซียอาจพบว่า “พวกมันไม่ได้ให้ความมั่นคงคุณเลย”
ประการที่ 2 การตอบโต้จากผู้นำโลก เช่น อินเดียและจีนที่เป็นเพื่อนกับรัสเซีย เรื่องที่มอสโกพูดถึงนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกว่าคำขู่ใช้นิวเคลียร์เป็นเรื่องต้องห้าม
เมื่อเดือน ก.ย. นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ยกข้อกังวลเรื่องการพูดถึงนิวเคลียร์มาหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
ถัดมาในเดือน พ.ย. ผู้นำกลุ่มจี20 แถลงปิดประชุมที่บาหลีซึ่งรัสเซียเข้าร่วมประชุมด้วยว่า การใช้หรือขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่ “ไม่อาจยอมรับได้”
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือแถลงการณ์ร่วมระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่บาหลี ทั้งสองเห็นชอบว่า “สงครามนิวเคลียร์ไม่ควรเกิดขึ้น และจะไม่มีใครได้ชัยชนะ พวกเขาคัดค้านการใช้หรือขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน”
วอชิงตันลดท่าทีของตนลง ไม่เตือนซ้ำๆ ถึง “ผลเสียหายร้ายแรงที่จะตามมา” สำหรับการใช้นิวเคลียร์
“กลายเป็นว่าประชาชนไม่ชอบใจเมื่อรัฐต่างๆ พูดแบบนั้น ผู้คนกำลังตระหนักชัดเจนอีกครั้งถึงอันตรายของสงครามนิวเคลียร์” พอดวิกกล่าว