ถอดบทเรียน “กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล” ที่ “เชอร์โนบิล” และ “ฟุกุชิมะ” รั่วไหล รับมืออย่างไร?
ย้อนรอย เหตุการณ์การระเบิดของโรงงานนิวเคลียร์ และการรับมือสาร “กัมมันตภาพรังสี” รั่วไหลทั้ง “เชอร์โนบิล” และ “ฟุกุชิมะ”
Keypoints:
- “ภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล” เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่เผลอไปปิดระบบทำงานอัตโนมัติบางส่วน จนทำให้เตาปฏิกรณ์ระเบิด
- ขณะที่ “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง” แม้จะเกิดจากสึนามิพัดถล่ม แต่สถานการณ์อาจจะไม่แย่ขนาดนี้ หากเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจกับคำร้องของความช่วยเหลือจากคนงานหน้าเตาปฏิกรณ์
- แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว แต่สารกัมมันตรังสียังคงสร้างผลกระทบให้แก่มนุษย์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมอยู่
ข่าวใหญ่ที่สุดในช่วงนี้คงจะหนีไม่พ้นการหายไปอย่างลึกลับของ “ซีเซียม 137” จากโรงงานไฟฟ้าไอน้ำ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ท่ามกลาง “ความไม่ชัดเจน” เกี่ยวกับข้อมูลของสารอันตรายที่หายไป และการจัดการของภาครัฐ ทำให้ประชาชนโดยรอบเกิดความกังวล เพราะเราต่างรู้ดีว่ากัมมันตภาพรังสีนนั้นมีความร้ายแรงมากเพียงใด
โดยเฉพาะประสบการณ์จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด 2 ครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “ภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล” ปี 2529 และ “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง” เมื่อปี 2554
“กรุงเทพธุรกิจ” พาผู้อ่านย้อนรอยความเสียหายของภัยพิบัติจากนิวเคลียร์ทั้ง 2 ครั้ง ที่ถูกจัดความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ และถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ อีกทั้งยังส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันแม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วเป็นสิบปีก็ตาม รวมถึงวิธีการจัดการของภาครัฐ
- ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ปี 2529
“ภัยพิบัติเชอร์โนบิล” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในแง่ของค่าใช้จ่ายและชีวิต เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2529 ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ใกล้ชายแดนของเบลารุส ซึ่งในขณะนั้นทั้ง 2 ประเทศยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็นและระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยขณะที่กำลังทดสอบระบบของเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 ทีมวิศวกรสังเกตเห็นความผิดปกติในบางระบบของเตาปฏิกรณ์ จึงทำการปิดระบบเหล่านั้น แล้วทดสอบระบบต่อไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักความปลอดภัยอย่างร้ายแรง
ต่อมาไม่นาน เกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลันภายในเตาปฏิกรณ์ โดยปรกติแล้วระบบตัดการทำงานอัตโนมัติและระบบระบายความร้อนควรจะทำงาน แต่ในครั้งนี้กลับไม่ทำงาน คาดว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ถูกปิดไปด้วย ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงขึ้นจนแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 หลอมละลาย และระเบิดขึ้น ทำให้เกิดรูรั่วขนาดใหญ่ สารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ปะทุในปริมาณมหาศาล แพร่กระจายสู่อากาศและพื้นดินโดยรอบอย่างรวดเร็ว และเกิดไฟลุกไหม้เตาปฏิกรณ์นานถึง 9 วัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 5 ล้านคนทั่วยุโรป
- ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง ปี 2554
11 มี.ค. 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะ ภาคโทโฮกุ ของญี่ปุ่น ซึ่งลึกลงไปใต้ดิน 32 กิโลเมตร นับว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกสมัยใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2443 โดยแผ่นดินไหวในครั้งนี้ทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่มีขนาดสูงถึง 40.5 เมตร ในจังหวัดอิวาเตะ และเป็นชนวนที่ทำให้เกิด “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง”
ในขณะนั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะตรวจพบว่าเกิดแผ่นดินไหวและมีระบบหยุดการทำงานของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อัตโนมัติแล้ว พร้อมมีกำแพงป้องกันตัวโรงงานไฟฟ้าไว้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานคลื่นยักษ์ขนาด 14 เมตรที่พัดเข้าถล่มโรงไฟฟ้า ทำให้น้ำทะเลเข้าท่วมโรงไฟฟ้า ส่งผลให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินที่ใช้ผลิตสารหล่อเย็นสำหรับหล่อเลี้ยงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงาน
แม้ว่าทีมงานจะสามารถกู้ระบบไฟฟ้ากลับมาได้ แต่ไม่หลังจากนั้นไม่นาน อุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 3 เตาเพิ่มสูงขึ้นจนร้อนจัด ทำให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนหลอมละลาย และเกิดการระเบิดของสารเคมีภายในโรงงานขึ้นหลายครั้ง จนสารกัมมันตรังสีเริ่มรั่วไหลออกสู่บรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิก
- การรับมือและการอพยพ
เนื่องจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว ทางการญี่ปุ่นจึงสามารถอพยพประชากรส่วนใหญ่ไปออกจากพื้นที่ได้ทันท่วงที โดยจากข้อมูลของ หนังสือพิมพ์ Mainichi Shimbun คำนวณการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบราว 300,000 คน เคราะห์ดีที่ไม่มีประชาชนทั่วไปเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดในครั้งนี้ แต่มีคนงานในโรงไฟฟ้าได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 16 คน จากแรงระเบิด และมีคนงานอีกหลายสิบคนที่สัมผัสกัมมันตภาพรังสีโดยตรง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสอบสวนอิสระที่รัฐสภาญี่ปุ่นตั้งขึ้น สรุปว่าเหตุการณ์นี้เป็น "ภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์อย่างแท้จริง" และกล่าวโทษบริษัทโรงไฟฟ้าว่า “ล้มเหลว” ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย หรือการวางแผนรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้
ขณะที่ เหตุการณ์เชอร์โนบิลมีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจำนวน 31 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเครื่องปฏิกรณ์และคนงานของโรงไฟฟ้า ส่วนรายงานของ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติว่าด้วยผลกระทบจากรังสี หรือ UNSCEAR เมื่อปี 2551 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันว่าเกิดจากรังสีทั้งสิ้น 64 ราย
ผลจากการระเบิดในครั้งนั้น ทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ ปกคลุมทั่วพื้นที่ตะวันตกของสหภาพโซเวียต และแผ่ขยายไปถึงยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ แต่ชาวเมืองพรีเพียต ที่อยู่ละแวกใกล้เคียงกับโรงงานไฟฟ้ากลับไม่ได้อพยพออกจากพื้นที่โดยด่วน พวกเขายังคงใช้ชีวิตปรกติ จนกระทั่ง ประชากรเริ่มล้มป่วย ด้วยอาการปวดหัวอย่างรุนแรง มีรสชาติโลหะในปาก พร้อมกับไอและอาเจียน ซึ่งพวกเขาต้องรอจนในวันถัดมา ราว 14.00 น. ของวันที่ 27 เม.ย. ถึงจะได้เริ่มทำการอพยพ รวมถึงประชากรในเมืองอื่น ๆ ของยูเครน เบลารุส และรัสเซีย มากกว่า 336,431 คน ที่อพยพออกจากพื้นที่
จากเริ่มต้นอพยพประชาชนในรัศมี 3 กิโลเมตรออกนอกพื้นที่ สามวันให้หลังจากการระเบิด ทางการเริ่มอพยพประชากรเพิ่มเติมในรัศมี 10 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า และสิบวันหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ ได้ขยายเขตการอพยพประชาชนออกไปถึง 30 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าล่าช้าไปมาก แต่เนื่องด้วยในขณะนั้นยังไม่เคยเกิดเหตุเช่นนี้มาก่อน ทำให้การประเมินสถานการณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก
- ความเสียหายและผลกระทบ
การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีของทั้ง 2 เหตุการณ์ส่งผลให้ประชาชนที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองเชอร์โนบิล และ ฟุกุชิมะ ไม่สามารถกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของตนเองได้อีกต่อไป ตามข้อมูลของ กรีนพีซ องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ผลการตรวจสอบรังสีแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ป่ารอบเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะกลายเป็นแหล่งที่มีการสะสมสารกัมมันตรังสี และทำให้ชุมชนใกล้เคียงมีความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือเกิดการปนเปื้อนขึ้นใหม่
จากรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเนื่องจากกัมมันตภาพรังสีในเหตุการณ์เชอร์โนบิลของ เชอร์โนบิลฟอรัม (Chernobyl Forum) การรวมตัวองค์กรองค์การพลังงานปรมาณูนานาชาติ (IAEA) รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ของสหประชาชาติและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เมื่อปี 2548 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน หรือ ARS (Acute Radiation Syndrome) ทั้งสิ้น 237 คน โดยมี 31 คน เสียชีวิตภายใน 3 เดือนแรก ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ไม่ทราบถึงอันตรายของรังสีและควัน
นอกจากนี้ กัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนและตกค้างอยู่นั้นทำให้ประชาชนได้รับรังสีมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น โดยประมาณการ ว่าการเสียชีวิตจากมะเร็งที่เป็นผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อาจสูงถึง 4,000 คน จากประชากรทั้งหมด 5 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อน โดยเด็กในยูเครนเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 เท่า ซึ่งมาจากการดื่มนมวัวที่ได้รับรังสี
อีกทั้งยังเกิดยีนกลายพันธุ์ในสัตว์ที่สามารถส่งต่อยังรุ่นต่อไป และความผิดปรกติทางร่างกาย เช่น มีเนื้องอก สมองเล็กลง ร่างกายโตไม่เต็มที่ ตาเป็นต้อกระจก เป็นต้น
ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจเพื่อการจัดการสุขภาพของจังหวัดฟุกุชิมะที่เผยแพร่ในปี 2556 พบว่า มากกว่า 40% ของเด็กที่อยู่รอบพื้นที่โรงไฟฟ้าที่เข้าการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงมีก้อนไทรอยด์หรือซีสต์ขนาดตั้งแต่ 5.1-20.1 มิลลิเมตร นอกจากนี้ในปี 2557 มีรายงานว่า พลูม (plume) ของไหลที่อยู่ใต้น้ำกัมมันตรังสีกำลังเคลื่อนไหวผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกมาถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ
แม้เหตุการณ์การระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่งจะผ่านมาแล้วมากกว่า 10 ปี แต่สารกัมมันตภาพรังสียังคงอยู่ และเป็นฝันร้ายที่คอยย้ำเตือนถึง “ความประมาท” ในการรับมือและจัดการวิกฤติอันส่งผลให้เกิดหายนะครั้งใหญ่ที่ประเมินค่าความเสียหายไม่ได้