‘ลาว’ ปรับกลยุทธ์ผลิตไฟฟ้า พลังงานลมเพื่อส่งออกยั่งยืน
‘ลาว’ ปรับกลยุทธ์ผลิตไฟฟ้า พลังงานลมเพื่อส่งออกยั่งยืน ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาไฟฟ้าพลังงานน้ำของลาว ช่วยขับเคลื่อนประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลแห่งนี้หันไปเน้นการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมมากขึ้น
ประเทศลาว หนึ่งในประเทศส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานลมแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งทรัพยากรน้ำมากเกินไป เนื่องจากแหล่งน้ำมักประสบภาวะขาดแคลนในหน้าแล้ง
พื้นที่ลึกเข้าไปในหุบเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาวที่มีประชากรบางเบา มีทุ่งกังหันลมแห่งหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยทุ่งกังหันลมที่มีกำหนดเริ่มดำเนินงานในปี 2568 นี้ เป็นโครงการของบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ป ของญี่ปุ่น, บีซีพีจี บริษัทย่อยด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัทบางจาก ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันของไทย และบริษัทอื่น ๆ
เมื่อโครงการเสร็จสิ้น ทุ่งกังหันลมแห่งนี้ จะมีพื้นที่ทั้งหมด 70,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 437,500 ไร่ พร้อมกังหันลมทั้งสิ้น 133 ต้น และด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ จะทำให้ทุ่งกังหันลมแห่งนี้ เป็นหนึ่งในทุ่งกังหันลมบนบกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนผลผลิตไฟฟ้า จะจำหน่ายให้กับบริษัทพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลเวียดนามเป็นเวลา 25 ปี
อย่างไรก็ตาม ทุ่งกังหันลมแห่งนี้ไม่ใช่โครงการพลังงานลมเพียงแห่งเดียวในลาว ประเทศที่ขนานนามตนเองว่าเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และมีนโยบายพลังงานที่มุ่งเน้นการส่งออก แต่ยังมีข้อเสนอโครงการทุ่งกังหันลมของบริษัทเวียดนามกำลังผลิต 250 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งแต่เดือน ธ.ค. และมีอย่างน้อยอีก 10 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผนโครงการทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ลาวเริ่มส่งออกพลังงานไฟฟ้าให้กับสิงคโปร์เมื่อปี 2565 และเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการส่งกระแสไฟฟ้าเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกัมพูชา
พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในลาวประมาณ 80% จำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศไทยและเวียดนาม และรายได้จากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าคิดเป็น 30% ของมูลค่าการส่งออก และเนื่องจากที่ดินประมาณ 70% ในลาว เป็นภูเขาและที่ราบสูง ทำให้หลายพื้นที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อนมาก ดังนั้น ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของลาว จึงคิดเป็น 70% ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศทั้งหมด
แต่ผลผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมักลดลงในหน้าแล้ง เนื่องจากจีนควบคุมส่วนต้นน้ำ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการทำเกษตรและประมงของลาว
อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาไฟฟ้าพลังงานน้ำ ช่วยขับเคลื่อนประเทศลาวสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมมากขึ้น ทุ่งกังหันลม จึงถือเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ช่วยเติมเต็มการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนได้ เนื่องจากกังหันลมสามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งวันทั้งคืน และมีประสิทธิภาพมากกว่าแผงโซลาร์เซลล์อีกด้วย
ส่วนแผนพัฒนาประเทศจนถึงปี 2573 ของรัฐบาลลาวนั้น รัฐบาลเรียกร้องให้รักษาอัตราการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำในปัจจุบันไว้ พร้อมกับการค่อย ๆ เปลี่ยนไปผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อน ไปจนถึงพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ประมาณ 30% เช่น พลังงานลม
นอกจากนี้ จีนได้ให้ทุนสร้างเขื่อนพลังงานน้ำในลาว แต่มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากผู้ผลิตกังหันลมของจีนเห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ของประเทศลาวแล้ว
“โทรุ นิชิฮามา” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากสถาบันวิจัยได-อิชิ ไลฟ์ กล่าวว่า “ยังมีโอกาสมากมายให้บริษัทจีน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมบนบก เข้ามาลงทุนในลาว”
ลาวเล็งเห็นถึงความต้องการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น หลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทย ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2593 ส่วนเวียดนาม กำลังก้าวไปสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์เช่นกัน โดย‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ให้คำมั่นสัญญาในที่ประชุม COP26 เมื่อปี 2564 ว่า จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2593
แต่ความท้าทายอย่างหนึ่งของเวียดนาม คือ การรักษาความมั่นคงของพลังงานหมุนเวียนที่นำมาแทนที่พลังงานจากถ่านหิน เพราะมีสัดส่วนประมาณ 50% ของอุปทานพลังงานในประเทศ
การขาดแคลนพลังงานที่เกิดจากเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนของเวียดนาม
โดยเมื่อปี 2565 เหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อกรุงฮานอย รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ และอาจเกิดเหตุไฟฟ้าดับได้อีกในช่วงฤดูร้อนนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ความต้องการกระแสไฟฟ้าในเวียดนามเพิ่มขึ้น 10% ต่อปีในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่มีการคาดการณ์ ว่า ความต้องการพลังงานในเวียดนามอาจเพิ่มขึ้น 5 เท่า ภายในปี 2593
แหล่งอุตสาหกรรมพลังงานในเวียดนาม ระบุว่า บางพื้นที่นอกชายฝั่งภาคใต้ของเวียดนามเหมาะสมต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในประเทศได้
ทั้งยังมีข้อพิพาทดินแดนระหว่างรัฐบาลฮานอยกับรัฐบาลปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ทำให้การนำเข้าไฟฟ้าจำนวนมากจากจีน มีความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านที่น่ารักอย่างลาว ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรไฟฟ้าที่สำคัญของเวียดนามต่อไป