'บังกลาเทศ'จ่อหารือเอฟทีเอ 11 ชาติ รับพ้นสถานะ'ประเทศพัฒนาน้อยสุด'
“ชีค ฮาสินา” นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับนิกเคอิเอเชียว่า บังกลาเทศกำลังหารือเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับ 11 ประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามหาแนวทางใหม่ๆเพื่อสนับสนุนการส่งออก ในช่วงที่สิทธิพิเศษทางการค้าสิ้นสุดในระยะเวลา 3 ปี
การให้สัมภาษณ์สื่อชั้นนำของญี่ปุ่นครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่เธอจะเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันอังคารหน้า ถือเป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 4 ปีและในการเยือนครั้งนี้ คาดว่าทั้งนายกรัฐมนตรีฮาสินาและนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นจะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีขึ้นมาเป็น“หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เชิงลึก”ระหว่างกัน
ฮาสินา กล่าวว่า บังกลาเทศเตรียมเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างมาก เมื่อหลุดพ้นจากสถานะ “ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด” ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสถานะที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้แก่บังกลาเทศในฐานะเป็นประเทศยากจนที่สุด เพื่อได้รับการยกเว้นด้านภาษีเมื่อต้องส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศกำลังพัฒนา
บังกลาเทศที่มีประชากร 170 ล้านคนแห่งนี้ มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนสถานะประเทศได้แล้ว และอาจเสียสิทธิพิเศษต่าง ๆทางการค้าในปี 2569
บังกลาเทศ เป็นผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน สินค้าประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วน 80% ของสินค้าส่งออกโดยรวม แต่การสร้างความหลากหลายด้านการส่งออกก็เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆของผู้นำหญิงคนนี้ โดยฮาสินา กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุปกรณ์ดิจิทัลก็เป็นภาคส่วนที่มีอนาคตสำหรับบังกลาเทศ รวมถึงทรัพยากรอื่นๆในอ่าวเบงกอล เช่น อุตสาหกรรมประมง
“เราต้องหาทางเลือกอื่นๆเพื่อทำข้อตกลงทางการค้า เราต้องการลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการค้า ตอนนี้เรากำลังหารือกับ 11 ประเทศด้วยกัน" ฮาสินา กล่าว
ปัจจุบัน บังกลาเทศมีข้อตกลงทางการค้าที่จำกัดกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่มีการทำเอฟทีเอกับประเทศใด แม้ฮาสินาไม่ได้ระบุว่าประเทศใดที่เป็นพันธมิตรใหม่ที่มีศักยภาพ แต่พอจะคาดการณ์ได้ว่า เป็นอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลธากาและรัฐบาลโตเกียวเริ่มศึกษาเอฟทีเอร่วมกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 แล้ว
“ขณะนี้เราต้องการสำรวจว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากอ่าวเบงกอลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของเราได้อย่างไรบ้าง” ฮาสินา กล่าว
ขณะนี้ บรรดาประเทศมหาอำนาจ เริ่มมองว่าอ่าวเบงกอลและบังกลาเทศมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ โดยที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลวอชิงตัน รัฐบาลนิวเดลี และรัฐบาลปักกิ่ง ต่างกระตือรือร้นที่จะขยายอิทธิพลในบังกลาเทศ ขณะที่นายกรัฐมนตรีฮาสินาก็พยายามแสดงจุดยืนเป็นกลางทางการทูต โดยบอกว่า "บังกลาเทศควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุก ๆ ประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ของบังกลาเทศกับญี่ปุ่น ที่เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาประเทศมาตลอดจนถึงปัจจุบัน"
ความช่วยเหลือของญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 2565 ทำให้บังกลาเทศเปิดบริการรถไฟใต้ดินสายแรก พร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานสากล ส่วนอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างในสนามบินนานาชาติธากานั้นก็ดำเนินการโดยสมาคมญี่ปุ่นเช่นกัน
นอกจากนี้ ทางตอนใต้ของเมืองมาตาบารี ญี่ปุ่นยังเป็นผู้นำและผู้ให้ทุนพัฒนาท่าเรือทะเลลึกแห่งแรกแก่บังกลาเทศด้วย
นายกรัฐมนตรีหญิงของบังกลาเทศ กล่าวว่า “ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนโครงการต่างๆเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในบังกลาเทศอย่างดี”
ในสายตาญี่ปุ่นนั้น บังกลาเทศมีความน่าดึงดูดใจด้านการลงทุนอย่างน้อย 2 ประการด้วยกันคือ ประการแรก การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ได้อานิสงค์จากการส่งออกสิ่งทอและการส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานชาวบังกลาเทศที่ไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้หลายปีที่ผ่านมา ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของบังกลาเทศขยายตัว 6%-7% และแม้แต่ช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 บังกลาเทศยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก
ประการที่สอง ญี่ปุ่นให้บังกลาเทศเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่รับการสนับสนุนที่มีศักยภาพในโครงการให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ (โอเอสเอ) ซึ่งเป็นโครงการจัดอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่ประเทศพันธมิตรโดนไม่คิดค่าใช้จ่ายของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ผู้นำหญิงคนนี้ของบังกลาเทศก็มีการบ้านที่ต้องทำ แถมยังเป็นการบ้านที่ไม่ง่ายเลยสักนิด โดยเฉพาะการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศต่างๆในช่วงที่ประเทศกำลังต้องการกระแสเงินสด เพื่อชดเชยกับทุนสำรองที่มีอย่างจำกัด