ชาวเกาหลีใต้ แห่เล่นแอป “Toss” ทำภารกิจ แค่ขยับเท่ากับได้เงิน!
วิธีหาเงินง่าย ๆ รูปแบบใหม่! ชาวเกาหลีใต้ 3 ใน 4 คนหารายได้จากการใช้แอปพลิเคชัน “Toss” ด้วยการนำจำนวนก้าวเดินในแต่ละวันมาแลกเป็นเงิน
ตอนนี้หากใครกำลังไปเที่ยวเกาหลีใต้ คงจะงงไม่น้อยเมื่อเจอชาวเกาหลีจับกลุ่มเดินวนไปเวียนมา พร้อมก้มหน้าก้มตาจิ้มหน้าจอสมาร์ทโฟนอย่างเมามัน พวกเขาไม่ได้กำลังจับโปเกมอนแต่อย่างใด ที่จริงแล้วคนเหล่านั้นกำลังหาเงินจากแอปพลิเคชันอยู่
“Toss” เป็นแอปพลิเคชันให้บริการทางการเงินที่มีครบทุกฟังก์ชันทั้งบริการจากธนาคาร ธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ P2P Lending ตลอดจนการซื้อขายหุ้น การลงทุน และการประกันภัย ของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเกาหลีใต้ Viva Republica ได้จัดทำแคมเปญดึงดูดผู้ใช้งาน ด้วยการให้ทำภารกิจต่าง ๆ เช่น เดินให้ครบ 10,000 ก้าว, กดติดตามโซเชียลมีเดียของแอปฯ, แตะหน้าจอเมื่อมีผู้ใช้รายอื่นอยู่ในระแวกเดียวกัน หรือตอบคำถามง่าย ๆ ซึ่งหากทำภารกิจสำเร็จจะได้รับเงินรางวัล 10 เซนต์ หรือราว 3.5 บาทต่อภารกิจ
ผลการสำรวจล่าสุดของ Incruit บริษัทจัดหางานยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ระบุว่า มีชาวเกาหลีใต้มากถึง 3 ใน 4 ที่สร้างรายได้ผ่านแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ขณะที่ข้อมูลของ Viva Republica ผู้ทำแอปฯ Toss ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานราว 4.4 ล้านรายเข้าร่วมทำภารกิจแลกเงินสด นับตั้งแต่เปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และ พบว่าแคมเปญนี้ทำให้ผู้ใช้งานเปิดแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 30%
เมื่อมีเงินเป็นของรางวัลล่อตาล่อใจ ยิ่งทำให้แอปพลิเคชันนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจนแตะที่ระดับ 5.1% ในปี 2022 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 ส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5.9% และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 9.7% ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานสถิติของเกาหลีใต้เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 497,000 คน ไม่มีงานทำและยังไม่คิดจะหางาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 2003
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เทรนด์การใช้แอปฯหาเงินของชาวเกาหลีใต้แสดงให้เห็นถึงการพยายามเอาตัวรอดจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้าย แต่ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานควรพึงระวังถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวจากแอปพลิเคชันด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะถูกแชร์ไปให้บุคคลที่ 3 และพิจารณาว่าข้อมูลส่วนตัวของเราคุ้มค่ากับการเงินเพียงเล็กน้อยที่ได้แทนมาหรือไม่
ที่มา: Fintech Futures, South China Morning Post