รำลึก‘วันแอนแซค’ ย้อนอดีตเพื่อสร้างสันติภาพ
ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่โลกผ่านสงครามใหญ่มาแล้วสองครั้ง แต่ละครั้งสร้างความสูญเสียเหลือคณานับ แต่การประหัตประหารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์กลับไม่เคยจบสิ้นด้วยสารพัดเหตุผลที่จะนำมาอ้างสร้างความชอบธรรม คงจะเป็นการดีถ้าทุกปีมีการรำลึกทหารผ่านศึกเมื่อครั้งอดีตเพื่อนำมาเป็นบทเรียนในปัจจุบันอย่างการจัดงานวันแอนแซค
วันที่ 25 เม.ย.ของทุกปีเป็นวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หรือวันแอนแซค ที่ชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยกย่องทหารที่รับใช้ชาติในสงคราม ความขัดแย้ง ปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ และรำลึกถึงทหารที่ล่วงลับจากการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ทั้งยังเป็นวันครบรอบเหตุการณ์เมื่อปี 1915 (พ.ศ.2458) ที่เหล่าทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Australian and New Zealand Army Corps: ANZAC) ได้ยกพลขึ้นบก ณ ชายฝั่งคาบสมุทรแกลลิโปลี ประเทศตุรกี เพื่อสมทบกับกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร
สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยโดยเอกอัครราชทูตแอนเจลา แมคโดนัลด์และสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดงานรำลึกวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ณ ช่องเขาขาดเป็นประจำทุกปี เว้นแต่ในช่วงโควิด-19 ระบาดที่จัดเป็นการภายในไม่เปิดให้สาธารณชนได้เข้าร่วม เมื่อปีนี้กลับมาจัดได้ตามปกติผู้คนจึงมากันอุ่นหนาฝาคั่งราว 600 คนรวมทั้งแขกพิเศษบินตรงจากออสเตรเลีย
แอนดรูว์ ไจลส์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง สถานะพลเมือง และกิจการพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลีย กล่าวถึงวันแอนแซคว่า เป็นวันที่ประชาชนร่วมพิธีรำลึกถึงทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและสันติภาพ ส่วนช่องเขาขาดที่เป็นสถานที่จัดงานก็มีความสำคัญมากสำหรับชาวออสเตรเลีย
"ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาในนามตัวแทนรัฐบาลและประชาชนออสเตรเลีย และซาบซึ้งใจที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีเมื่อย้อนไปถึงช่วงเวลาของเชลยศึกชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และชาวไทยที่ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวออสเตรเลียที่กลับมาแสดงความเคารพต่อทหารผ่านศึกที่นี่" รมต.ไจลส์กล่าว
แขกพิเศษอีกคนคือ พลอากาศตรีดาเร็น โกล์ดี้ Air Commander Australia ที่มีความผูกพันกับวันแอนแซคเป็นพิเศษในฐานะทหาร
“โดยส่วนตัวผมเป็นทหารอากาศมา 30 ปี รำลึกถึงกองทัพออสเตรเลียที่น่าภาคภูมิใจเหมืือนกับชาวออสเตรเลียคนอื่นๆ อย่างวันนี้ครอบครัวผมก็ร่วมรำลึกที่ออสเตรเลียด้วย” ส่วนบทบาทของออสเตรเลียต่อสันติภาพโลกในปัจจุบัน Air Commander กล่าวว่า กองทัพออสเตรเลียสานต่อปฏิบัติการที่น่าภาคภูมิใจในอดีตมาถึงปัจจุบันและทำต่อไปในอนาคต ปฏิบัติการสันติภาพทั่วโลกตามปทัสถานระหว่างประเทศเพื่อสร้างสันติภาพและความมั่นคงทั่วทั้งภูมิภาค
สำหรับบทเรียนสำคัญที่ได้จากประวัติศาสตร์วันแอนแซค Air Commander มองว่า คือค่านิยมที่กองทัพมีร่วมกันในวันนี้
"ในกองทัพออสเตรเลียเราพูดกันถึงการทำหน้าที่ ความกล้าหาญ ความเคารพ ความซื่อสัตย์ และความเป็นเลิศ และเรายังจดจำการทำหน้าที่และความกล้าหาญของเหล่าทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ยกพลขึ้นบก ณ ชายฝั่งคาบสมุทรแกลลิโปลี เมื่อหลายปีมาแล้วได้เป็นอย่างดี"
อีกหนึ่งคนที่จะขาดเสียไม่ได้คือเจ้าภาพฝ่ายนิวซีแลนด์ โจนาธาน คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยและประธานในพิธีของปีนี้ กล่าวก่อนวางพวงหรีดแสดงความรำลึกถึงผู้เสียสละเมื่อครั้งอดีต
“วันนี้ชาวนิวซีแลนด์และชาวออสเตรเลียร่วมรำลึกถึงผู้ที่อุทิศชีวิตของเขาเพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างสันติสุข เราย้ำเตือนใจของเราถึงการเสียสละของพวกเขา เราให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ที่กลับมาจากการรับใช้ชาติ และเราตระหนักถึงหน้าที่การดูแลครอบครัวของผู้ล่วงลับ(จากการรับใช้ชาติ)”
ทั้งนี้ วันแอนแซคเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่ช่องเขาขาดสถานที่จัดงาน เป็นสถานที่ที่เชลยศึกของกองทัพญี่ปุ่นและแรงงานชาวเอเชียช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2ถูกบังคับให้มาทำงานสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างไทยและพม่า หลายคนต้องจบชีวิตลงด้วยความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ และการถูกทารุณกรรมอย่างแสนสาหัสในจำนวนนี้มีชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์รวมอยู่ด้วย การจัดงานวันแอนแซคที่ช่องเขาขาดจึงเป็นการหลอมรวมประวัติศาสตร์สงครามโลกทั้งสองครั้งกับ จ.กาญจนบุรีได้อย่างกลมกลืน
น่าสังเกตว่าที่ผ่านมางานวันแอนแซคมักมีทหารผ่านศึกชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาร่วมงานด้วย แต่ปีนี้เป็นไปได้ว่าท่านทั้งหลายที่ยังคงมีชีวิตอยู่อาจชราภาพมากจนมาไม่ไหว ผู้ร่วมงานน่าจะเป็นลูกหลานในวัยทำงานไปจนถึงวัยไม่เกิน 60 ปีปลายเป็นส่วนใหญ่ ที่น่าประทับใจคือ หลายครอบครัวหอบลูกจูงหลานมาด้วยไล่ตั้งแต่วัยแบเบาะไปจนถึงวัยอนุบาลและประถมต้น พวกหนูๆ ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาทำพิธีในเวลา 5.30 น. เด็กโตไม่มีใครร้องไห้งอแง มาร่วมพิธีอย่างสดใสด้วยความอยากรู้อยากเห็น ขอขอบคุณพ่อแม่ที่นำเด็กๆ มาเป็นสักขีพยานความเสียสละของบรรพบุรุษ เพราะนั่นคือการปลูกฝังความสำคัญของสันติภาพ สงครามนำมาซึ่งความสูญเสีย การอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในฐานะเพื่อนมนุษย์ย่อมเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์สงครามซ้ำรอย