‘เกาหลีใต้-สหรัฐ’ร่วมมือนิวเคลียร์เพิ่ม รับมือภัยคุกคาม‘เกาหลีเหนือ’
‘เกาหลีใต้-สหรัฐ’ร่วมมือนิวเคลียร์เพิ่ม รับมือภัยคุกคาม‘เกาหลีเหนือ’ ขณะปธน.เกาหลีใต้เชิญ“อีลอน มัสก์”ลงทุนสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ พร้อมเสนอแรงจูงใจด้านภาษี-และแรงงานมีทักษะสูง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้เห็นพ้องยกระดับและขยายขอบเขตความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งการจัดการหารือระดับประธานาธิบดี เพื่อส่งเสริมความพร้อมในการรับมือ การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ
ประธานาธิบดีไบเดน ให้การต้อนรับประธานาธิบดียุน ที่ทำเนียบขาวในโอกาสที่ผู้นำเกาหลีใต้เยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 6วัน เมื่อวันพุธ(26เม.ย.)ถือเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกในรอบ 12 ปี ที่เยือนสหรัฐ ต่อจากประธานาธิบดีอี มยอง-บัก ที่เยือนสหรัฐเมื่อปี 2554
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผู้นำทั้งสองหยิบยกขึ้่นมาหารือระดับทวิภาคีเกี่ยวข้องกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี เนื่องในโอกาสที่ปีนี้ครบรอบ 70 ปี การสิ้นสุดสงครามเกาหลี ผูุ้นำสองประเทศร่วมกันประกาศปฏิญญาวอชิงตัน ที่มีเนื้อหาหลักคือการยกระดับ มาตรการป้องปรามเกาหลีเหนือ ขยายขอบเขตความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดการหารือระดับประธานาธิบดี เพื่อส่งเสริมความพร้อมในการรับมือ การโจมตีด้วยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ และปฏิบัติการตอบโต้อย่างรวดเร็วและเต็มกำลังของชาติพันธมิตร ที่ครอบคลุมถึง อาวุธนิวเคลียร์จากสหรัฐ
ในโอกาสที่ผู้นำเกาหลีใต้มาเป็นแขกครั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดน พร้อมด้วย“จิล ไบเดน” สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดียุน และ“คิม คอน-ฮี” สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้
ทั้งนี้ สหรัฐได้ถอนการติดตั้งและการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อปี 2534 และในอีก 1 ปีต่อมา เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงไม่ทดสอบ พัฒนา ผลิต รับมอบ ครอบครอง เก็บรักษา ประจำการ และใช้งานอาวุธนิวเคลียร์
นอกจากหารือในประเด็นอาวุธนิวเคลียร์กับประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว ประธานาธิบดียุน ยังหารือกับ“อีลอน มัสก์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)บริษัทเทสลา พร้อมทั้งเสนอลดหย่อนภาษีและให้การสนับสนุนด้านแรงงาน หากมัสก์ ลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ว่า ปธน.ยุนและมัสก์พบปะกันเมื่อวันพุธ (26 เม.ย.)ซึ่งมัสก์ กล่าวกับปธน.ยุนว่า เกาหลีใต้ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในการจัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ของเทสลา พร้อมคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสเดินทางเยือนเกาหลีใต้ ทั้งยังบอกด้วยว่า เกาหลีใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ของเทสลา
นอกจากมัสก์แล้ว ยังมีผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้หลายคนที่ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบขาว เช่น "มีกู ควังโม" ประธานและซีอีโอแอลจี ,ลี แจยอง ประธานและซีอีโอซัมซุง ,ชอง อีซอน ประธานฮุนได และชอง คีซอน ซีอีโอฮุนได พร้อมทั้งบรรดาบุคคลผู้มีชื่อเสียง อย่าง แองเจลินา โจลี นักแสดงหญิงชื่อดังของฮอลลีวูด
นอกจากนี้ ยังมี “ชเว แทวอน” ประธานเอสเค อิงค์ ,วอลเตอร์ โช ประธานสายการบินโคเรียนแอร์ ,โช ฮยอนจุน ประธานฮโยซอง คอร์ป รวมทั้งชิป เกนส์ และโจแอนนา เกนส์ ดาราเรียลลิตีโชว์ Fixer Upper และ โคลอี้ คิม นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก
การรวมตัวกันของบรรดาผู้บริหารระดับสูงในแวดวงธุรกิจที่ทำเนียบขาวครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลสหรัฐในการสร้างความสมดุลให้กับข้อกำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปรับลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) และกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งปรับเงื่อนไขเพื่อสร้างแรงจูงใจด้านภาษีและการอุดหนุนการผลิตของสหรัฐ กับพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และยุโรป
ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะขยายตัว 0.2% และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้สามารถรอดพ้นจากภาวะถดถอยได้ หลังจากที่หดตัวในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังคงถูกบดบังจากยอดการส่งออกที่ซบเซา อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง แต่นักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ดีดตัวขึ้นทางเทคนิค หลังจากที่หดตัวลง 0.4% ในไตรมาส 4/2565 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง และเป็นการสนับสนุนมุมมองที่ว่าวงจรการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้สิ้นสุดลงแล้ว