‘สหรัฐ’ เพิ่มขีดความสามารถ หนุนสตรีเข้าถึง IP เสริมแกร่งศก.

‘สหรัฐ’ เพิ่มขีดความสามารถ หนุนสตรีเข้าถึง IP เสริมแกร่งศก.

ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) ช่วยผลักดันเศรษฐกิจเติบโต เมื่อผลงานของผู้สร้างสรรค์และนวัตกรรมได้รับการคุ้มครอง บังคับใช้ให้เป็นไปตามสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ จะเป็นแรงกระตุ้นผู้คนผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์เพื่อยกระดับชีวิตประชาชน

ว่าด้วยเรื่อง "ทรัพย์สินทางปัญญา" ถ้าเปิดกว้างให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในเรื่องนี้มากเท่าไหร่ จะยิ่งช่วยเติมเต็มและเป็นตัวเร่งให้ประเทศพัฒนามากขึ้นเท่านั้น

และเพื่อให้เห็นภาพประกอบกับสถานการณ์การใช้ทรัพย์ทางปัญญาผลักดันอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เติบโต ไปฟังความเห็น “เกว็นโดลิน คาร์ดโน” อัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสตรีกับทรัพย์สินทางปัญญา  เนื่องในวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งเกว็นโดลินระบุว่า ทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญอย่างมากในฐานะที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม 

“การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการคุ้มครองผลงานนวัตกรรมของผู้สร้างสรรค์และนักประดิษฐ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม รวมทั้งสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความคิดและการพัฒนาสิ่งใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับและพัฒนาชีวิตของพวกเราให้ดีขึ้นในท้ายที่สุด” เกว็นโดลิน  กล่าวและเสริมว่า IP จะช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่และผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

 

‘สหรัฐ’ เพิ่มขีดความสามารถ หนุนสตรีเข้าถึง IP เสริมแกร่งศก.  

มองศก.สหรัฐผ่านไอพี

เกว็นโดลิน อ้างอิงรายงานจากสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐ (USPTO) เมื่อปีที่แล้ว พบว่า ในช่วง 5 ปีมานี้อุตสาหกรรมที่มีทรัพย์สินทางปัญญา (IP-intensive industries) เป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ และสร้างงาน 47.2 ล้านตำแหน่ง ถือเป็น 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมดของสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะชื่นชมความหลักแหลม เฉลียวฉลาด และเก่งกล้าของผู้หญิงทั่วโลก ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกของเรา และกำหนดทิศทางอนาคตร่วมกัน เพราะในอดีตที่ผ่านมา ผู้หญิงได้คิดค้น พัฒนา ทดสอบ และปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของตนให้สมบูรณ์

 

‘สหรัฐ’ เพิ่มขีดความสามารถ หนุนสตรีเข้าถึง IP เสริมแกร่งศก.

‘อคติ’ อุปสรรคสกัดผู้หญิงเข้าถึง IP

“รู้หรือไม่ว่า จำนวนผู้หญิงมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก แต่ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาโลก กลับมีสัดส่วนเพียงน้อยนิดเท่านั้น” เกว็นโดลิน ระบุ และว่า อะไรคืออุปสรรคในการให้นักประดิษฐ์ผู้หญิงเข้าถึงระบบทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนตัว มองว่า ผู้หญิงมักไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับ IP, การไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายและคำปรึกษา โดยเฉพาะ“อคติ” 

ข้อมูลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ระบุว่า ปีที่แล้ว มีนักประดิษฐ์ที่เป็นผู้หญิงยื่นขอจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศเพียงแค่ 16% เท่านั้น

เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานลักษณะเดียวกันที่ระบุว่า ข้อมูลจนถึงปี 2563 แม้ว่าผู้หญิงจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากขึ้นเร็วที่สุดทั่วโลก แต่กลับไม่ค่อยจะมี “ทุนและแหล่งเงิน” ที่จำเป็นเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งยังเป็นเจ้าของธุรกิจในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ดังนั้น สหรัฐจึงเห็นว่า ต้องช่วยกันผลักดันให้สตรีเข้าถึงระบบทรัพย์สินทางปัญญามากกว่านี้

ขณะนี้สำนักงานด้าน IP และสำนักงานอื่น ๆ ทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของชายและหญิงในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเป็นผู้ประกอบการ

 

‘สหรัฐ’ หนุนบทบาทผู้หญิงกับ IP

ยกตัวอย่างในสหรัฐ จัดให้มีโครงการริเริ่มที่เรียกว่า โครงการส่งเสริมศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการหญิง (Empowering Women’s Entrepreneurship) ซึ่งโครงการนี้นำเสนอคำแนะนำจากผู้ที่ “ประสบความสำเร็จ” ตลอดจนแหล่งทรัพยากรที่จะช่วยสตรีด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตน หาเงินทุนสำหรับความคิดของตน และขยายเครือข่ายที่ปรึกษาและผู้ให้คำแนะนำ 

 

‘สหรัฐ’ เพิ่มขีดความสามารถ หนุนสตรีเข้าถึง IP เสริมแกร่งศก.

 

 โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น สร้างงาน ตลอดจนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจผ่านทางความคิด ความรู้ความเข้าใจ และนวัตกรรมต่าง ๆ ของผู้หญิง ขณะที่ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ IP ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สถานทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยจัดให้มีกิจกรรมประจำปีเพื่อเฉลิมฉลองวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความพยายามของไทยในการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับ IP ในประชาชนทั่วไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2561  สหรัฐได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย จัดสัมมนาสำหรับบุคคลทั่วไป ภายใต้หัวข้อ “Powering Change: Women in Innovation and Creativity” ในงานดังกล่าว มีนักเขียนนวนิยายชื่อดัง นักออกแบบสินค้าที่ทำจากหนัง นักวิจัย และผู้ก่อตั้ง นารายา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าและของที่ระลึกที่ทำจากผ้าที่มีชื่อเสียง ได้มากล่าวถึงงานที่ทำและความสำคัญของ IP

จุดประกายคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม IP

สหรัฐจะดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหมู่นักประดิษฐ์สตรี และนักประดิษฐ์จากกลุ่มที่มีจำนวนน้อยอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการมีส่วนในนวัตกรรมและระบบ IP

ในความเป็นจริงแล้ว กิจกรรมของสหรัฐในวันนี้ เป็นตัวอย่างของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ IP โดยทั่วๆ ไป และช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมและความหลากหลายยิ่งขึ้นในระบบ IP ซึ่ง “ส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์”

กิจกรรมวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกของสถานทูตสหรัฐในวันนี้ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา วิธีการได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา และการนำไปใช้เชิงพาณิชย์

อัครราชทูตสหรัฐแสดงความหวังว่า กิจกรรมเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักประดิษฐ์ ผู้สร้างสรรค์ และผู้ประกอบการในอนาคตของเรา และช่วยให้พวกเขามีความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับวิธีการที่จะประสบความสำเร็จได้