ภัยของความใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ธนาคารและด้านอื่น | ไสว บุญมา
คงปฏิเสธเหตุผลของคนจำนวนมากไม่ได้ ที่มองว่าสหรัฐอเมริกาเป็นภัยในหลายกรณี แต่ภัยในสมัยนี้ส่วนใหญ่คงไม่ได้มาจากการรุกรานโดยตรงเช่นในสมัยล่าอาณานิคมของมหาอำนาจ หากมาจากทางอื่นทั้งที่มองเห็นได้ง่ายและที่มองเห็นได้ยาก
เอกสารลับของกระทรวงกลาโหมอเมริกัน ซึ่งทหารชั้นผู้น้อยนำมาเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ชัดว่าสหรัฐอเมริกาพยายามแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ดี การแทรกแซงน่าจะมีผลร้ายต่อประเทศเป้าหมายเพียงจำกัด หากชนชั้นผู้นำของประเทศเหล่านั้นไม่ทำชั่วร้ายพร้อมกันไปด้วย
เช่น สหรัฐอาจพยายามแทรกแซงกิจการภายในเพื่อยัดเยียดขายอาวุธ แต่ถ้าชนชั้นผู้นำในประเทศเป้าหมายไม่พร้อมร่วมมือโดยการซื้ออาวุธเพราะรับค่านายหน้า ปัญหาย่อมเกิดยาก
สหรัฐใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นทุกวัน ในขณะที่ทรัพยากรเหล่านั้นลดลง ส่งผลให้ประเทศอื่นไม่ได้ใช้ ต้องซื้อด้วยราคาแพง หรือเกิดความขัดแย้งกับมหาอำนาจอื่นที่พยายามแย่งชิงเอาไปใช้ด้วย
ความขัดแย้งนี้มีผลกระทบเป็นที่ประจักษ์ เช่น สงครามในยูเครนซึ่งเห็นได้ง่าย การลดการค้าขายและความร่วมมือต่างๆ ระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งผลกระทบอาจเห็นได้ไม่ชัดนัก
ยิ่งกว่านั้น หากการขัดแย้งกันนำไปสู่การอ่านสถานการณ์ หรือคาดการณ์ผิดพลาด อาจนำไปสู่สงครามใหญ่ ซึ่งไม่มีใครต้องการแต่จะผลาญทั้งชีวิตมนุษย์และทรัพยากรโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ดี โอกาสที่สงครามแนวนี้จะเกิดมีน้อย
ภัยจากสหรัฐที่น่าวิตกกว่ามาจากด้านการที่เขาไม่ต้องทำอะไรและการใช้ไม้อ่อน หรืออำนาจละมุน (soft power) ชาวอเมริกันมีวัฒนธรรมและแนวคิดต่างๆ ที่พยายามเผยแพร่โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบ้าง ไม่ได้รับบ้าง
ในหลายกรณีมีการค้าขายเป็นแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นการขายดนตรีหรือภาพยนตร์ให้แก่ประเทศอื่น สิ่งเหล่านี้อาจมีผลร้ายในด้านการทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
แต่การทำลายเกิดขึ้นได้ยากหากเจ้าของท้องถิ่นเข้าใจ เลือกนำมาใช้เฉพาะในด้านที่มีคุณ หรือไม่นำมาใช้หากมันทำลายของดีซึ่งตนมีอยู่แล้ว
ในบรรดาแนวคิดทั้งหลายที่สหรัฐใช้อยู่และเป็นภัยสูงสุดแต่แทบไม่มีผู้คัดค้าน ได้แก่ การยึดว่าความสุขมาจากการบริโภค หรือการรับประทานและการใช้สรรพสิ่ง ซึ่งนำไปสู่ความพยายามที่จะทำเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด
ชาวโลกโดยทั่วไปเดินตามแนวคิดนี้ ซึ่งมีผลร้ายสารพัดจากระดับมหาอำนาจแย่งชิงทรัพยากรโลกกันถึงระดับบุคคล ซึ่งทำลายสุขภาพของตนเองเพราะรับประทานเกินความจำเป็น
ในนามของการพัฒนาเพื่อแสวงหาสรรพสิ่งมาบริโภค มีแนวคิดทางเศรษฐกิจระบบตลาดเสรีเป็นฐาน กระนั้นก็ตาม ในด้านการปฏิบัติ สหรัฐละเมิดแนวคิดนี้จนมีปัญหาสาหัส
เช่น การเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เกิดธนาคารขนาดใหญ่ที่มีกิจการครอบคลุมไปทั่วทุกหัวระแหง จนถึงจุดที่จะปล่อยให้ธนาคารเหล่านี้ล้มไม่ได้ เนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยและเกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้าโดยปริยาย
ธนาคารขนาดใหญ่จึงมีอำนาจเหนือรัฐ ประเด็นนี้เพิ่งมีตัวอย่างอีกครั้งทั้งในสหรัฐและในสวิตเซอร์แลนด์ รัฐต้องเข้าไปอุ้ม หรือไม่ก็ให้ธนาคารขนาดใหญ่ซื้อไป ส่งผลให้ธนาคารเหล่านั้นใหญ่ขึ้นไปอีก
ตามธรรมดา นอกจากกรณีของกิจการธนาคาร สหรัฐไม่ยอมให้กิจการต่างๆ ใหญ่จนถึงมีอำนาจเหนือรัฐ หรือการทำงานของระบบตลาด เนื่องจากสามารถผูกขาดได้ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย
ทั้งนี้เพราะมันจะสร้างความเสียหายทั้งในด้านการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยทั่วไป ในด้านการทำงานของระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และในด้านการเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสังคม
อย่างไรก็ดี มีประเทศต่างๆ ปล่อยให้เกิดสภาวะแบบนี้ได้ในเศรษฐกิจของตน
สำหรับในเมืองไทย เราจะมองได้หรือยังว่าการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด และกิจการร้านสะดวกซื้อมีอำนาจเหนือรัฐและคุมตลาดได้แบบแทบสัมบูรณ์แล้ว
ทั้งนี้เพราะไม่กี่บริษัทคุมสัดส่วนของตลาดไว้ได้สูงและไม่ยอมให้เกิดคู่แข่งได้ง่าย รวมทั้งการสนับสนุน หรือกดดันให้รัฐออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตน?
ในระบบตลาดเสรี การปล่อยสภาวะจากการมีขนาดใหญ่แนวนี้ให้เกิดขึ้นได้เป็นภัยใหญ่หลวงนัก.