FAO เผย ดัชนีราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เผยว่า ดัชนีราคาอาหารโลกในเดือนเม.ย. ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน มี.ค. เป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปี ผลมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เผยว่า ดัชนีราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้นในเดือน เม.ย. 2566 เป็นครั้งแรกในรอบปี เฉลี่ยอยู่ที่ 127.2 มากกว่าเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 126.9 แต่ยังคงเพิ่มขึ้นเพียง 20% จากสถิติสูงสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2565 หลังรัสเซียรุกรานยูเครน
เอฟเอโอ กล่าวว่า ดัชนีราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย. สะท้อนถึงราคาน้ำตาล เนื้อสัตว์ และข้าว เพิ่มสูงขึ้นทดแทนดัชนีราคาธัญพืช นม และน้ำมันพืชที่ปรับตัวลดลง
“แมกซิโม โตเรโร” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอฟเอโอ กล่าวว่า “ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการชะลอตัว ความต้องการอาหารจึงเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแรงกดดันต่อราคาอาหาร”
ดัชนีราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. 17.6% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 เอฟเอโอบอกว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาน้ำตาลเกี่ยวข้องกับความกังวลว่าอุปทานจะตึงตัวมากขึ้น หลังมีการปรับลดคาดการณ์การผลิตของอินเดียและจีน รวมถึงผลผลิตจากไทยและสหภาพยุโรปที่ต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ดัชนีราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ดัชนีราคานมลดลง 1.7% ดัชนีราคาผักลดลง 1.3% และดัชนีราคาธัญพืชลดลง 1.7% ซึ่งราคาธัญพืชทั้งหมดในตลาดโลกดลงมากกว่าราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ โตเรโร ได้อ้างอิงถึงข้อตกลงที่อนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำว่า “การเพิ่มขึ้นของราคาขาวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และจำเป็นที่จะต้องต่ออายุข้อตกลงขนส่งธัญพืชทางทะเลดำใหม่อีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นอีก”
ในรายงานที่เกี่ยวข้องอุปทานและอุปสงค์ธัญพืช เอฟเอโอคาดว่า ผลผลิตข้าวสาลีโลกในปี 2566 อยู่ที่ 785 ล้านตัน ต่ำกว่าระดับผลผลิตในปี 2565 เล็กน้อย แต่ก็เป็นผลผลิตที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของสถิติผลผลิตขาวสาลี
ส่วนการบริโภคธัญพืชของโลกช่วงปี 2565/66 อยู่ที่ 2,780 ล้านตัน ลดลงจากช่วงปี 2564/65 0.7% และปริมาณสต็อกธัญพืชโลกช่วงสิ้นฤดูกาล 2565/66 คาดว่าลดลง 0.2% จากช่วงเปิดฤดูกาลซึ่งอยู่ที่ระดับ 855 ล้านตัน