พิธา ให้สัมภาษณ์ CNN เดินหน้าขจัดระบอบทหาร - พร้อมรับมือทุกอุปสรรค

พิธา ให้สัมภาษณ์ CNN เดินหน้าขจัดระบอบทหาร - พร้อมรับมือทุกอุปสรรค

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ได้ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น ยืนยันมีความมุ่งมั่นปฏิรูปโครงสร้าง ไม่กลัวต่ออุปสรรค ย้ำ มีราคาที่ต้องจ่าย หาก ส.ว. ไม่เคารพเสียงข้างมาก

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ บ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกลของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เตรียมมุ่งสู่ชัยชนะ โดยมีที่นั่งมากที่สุดในสภา และจะได้รับคะแนนโหวตนำพรรคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้าคณะรัฐประหารในปี 2557

พิธา ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด วัย 42 ปี กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายตลอด 4 ปีข้างหน้า จะช่วยให้ประเทศพ้นจากระบอบทหาร ทลายทุนผูกขาด และกระจายอำนาจให้กับประเทศไทย

“สามเสาหลักดังกล่าว เป็นหนทางเดียวที่สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และมั่นใจว่าประเทศจะกลับมาเป็นปกติ กลับมาบนเวทีระดับโลกอีกครั้ง และไม่เพียงแค่มีส่วนร่วม แต่จะได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ด้วย”

ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า พรรคก้าวไกลได้เสียงข้างมากจากคนหนุ่มสาว เพื่อสนับสนุนนโยบายปฏิรูป ซึ่งรวมถึงแผนแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพของพรรค มีทั้งการยกเลิกร่างกฎหมายต่างๆ, ลดงบประมาณ, ทำให้กองทัพโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และลดจำนวนทหารระดับชั้นนายพล

พิธา กล่าวว่า ความสำเร็จของพรรคจากการเลือกตั้ง ที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากชาวไทย แสดงให้เห็นว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้ถูกใจแค่กลุ่มคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ถูกใจทุกคนในสังคม

 

 

“ค่อนข้างชัดเจนว่า ประชาชนต้องการ การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างชัดเจน และเราได้ปรับปรุงฉันทามติเพื่อวันใหม่ของเราแล้ว” พิธา ย้ำ

ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น หัวหน้าพรรคก้าวไกล เผยว่า ตนได้เข้าพูดคุยกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เพื่อรวมพันธมิตร และรักษาเสียงข้างมากในสภาให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล หนึ่งในนั้นมีพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า ใครจะมีอำนาจขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ส.ว. คืออุปสรรค

อุปสรรคสำคัญในการเลือกนายกฯ คือ สมาชิกวุฒิสภา 250 ที่นั่ง ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารทั้งหมด ซึ่งเคยโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ทหารมาก่อน ดังนั้น การรวมพันธมิตรต้องครองเสียงข้างมากให้ได้ เพื่อเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

พิธา กล่าวว่า ส.ว. ชุดนี้จะต้องไม่เหมือน ส.ว. เมื่อ 4 ปีก่อน ที่ลงมติเอกฉันท์เลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ ครั้งนี้ ส.ว. ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว

 

พิธา ให้สัมภาษณ์ CNN เดินหน้าขจัดระบอบทหาร - พร้อมรับมือทุกอุปสรรค

ถ้าเรายังคงสื่อสาร และคอยอธิบายว่า พวกเรากำลังพยายามทำอะไรเพื่อประเทศ และเรามีความสำคัญต่ออนาคตของชาติอย่างไร ผมคิดว่า ส.ว. จะไม่เป็นอุปสรรคสำคัญเลย และการต่อต้านเสียงของประชาชน 25 ล้านคนในประเทศ มีราคาที่ต้องจ่ายหนักมาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ากองทัพพยายามล้มล้างผลการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น พิธา ตอบว่า “เราต้องลดความเสี่ยง ไม่ให้เกิดการโค่นล้มเสียงของประชาชน”

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จนับสิบครั้ง ตั้งแต่ปี 1932 รวมทั้ง 2 ครั้งล่าสุดในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา แต่พิธายืนยันว่า ได้เตรียมรับมือกับความเสี่ยงทุกอย่างแล้ว

“ผมไม่กังวล แต่ไม่ใช่ว่าไม่ใส่ใจเช่นกัน ผมอยู่ในการเมืองไทยมานาน 20 ปีจึงได้เห็นถึงความโหดร้ายของการเมือง ผมมีทีมงานรอบตัวที่แข็งแกร่ง และมั่นใจได้ว่า พวกเราไม่ยอมแพ้ต่อการกลั่นแกล้งใดๆ” พิธายืนยัน และว่า “แน่นอนว่ามีผู้เชี่ยวชาญ และมีคนออกมาโจมตีเพื่อต่อต้านผม แต่ผมเตรียมตัวเพื่อชี้แจง และอธิบายหลายๆ อย่างมานานแล้ว และมั่นใจว่า ผมมีพื้นฐานทางกฎหมายแน่น เพื่อรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามา

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์