ทำไม ‘เวียดนาม’ ปรับกลยุทธ์ส่งออกข้าวลดลงเกือบครึ่ง ทั้งที่กำลังรุ่ง
เวียดนามปรับกลยุทธ์การส่งออกข้าวครั้งใหญ่ ตั้งเป้าลดส่งออกข้าวลงเหลือ 4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 แต่สถานการณ์ในประเทศและแนวโน้มเศรษฐกิจทำให้เวียดนามปรับตัวแบบมียุทธศาสตร์ มุ่งพัฒนาพันธุ์ข้าวพรีเมียม และเน้นขายให้ลูกค้าประจำที่รอยัลตี้ข้าวเวียดนาม
เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย ขณะนี้เวียดนามปรับกลยุทธ์การส่งออกข้าว ตั้งเป้าหมายจะลดการส่งออกข้าวลงเหลือ 4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 จากเดิม 7.1 ล้านตันในปีที่แล้ว
แผนการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อที่จะเพิ่มการส่งออกข้าวคุณภาพสูง, รับประกันความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศ, ปกป้องสิ่งแวดล้อม และปรับตัวตามการเปลี่ยนของสภาพอากาศ
รายได้จากการส่งออกข้าวจะลดลงเหลือ 2.62 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2573 โดยลดลงจาก 3.45 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565
ในแถลงการณ์ระบุว่าเวียดนามจะกระจายตลาดส่งออกข้าวเพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเอกสารระบุถึงฟิลิปปินส์เป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาช้านาน โดยคิดเป็น 45% ของการขนส่งในปีที่แล้ว
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในการประชุมระดับภูมิภาคที่อินโดนีเซียในเดือนนี้ว่า เวียดนามยินดีที่จะจัดหาข้าวให้กับฟิลิปปินส์ในระยะยาวในราคาที่เหมาะสม
ภายในปี 2568 การส่งออกข้าวของเวียดนาม 60% จะถูกส่งไปยังตลาดเอเชีย 22% แอฟริกา 7% สหรัฐ 4% และส่งไปยังตะวันออกกลาง และยุโรปเท่าๆกันคือ 3%
สมาคมอาหารเวียดนามซึ่งเป็นตัวแทนผู้แปรรูปและผู้ส่งออกข้าวไม่ได้แสดงความคิดเห็นในทันที
รัฐบาลระบุว่า เวียดนามจะมุ่งเน้นการผลิตข้าวหอมและข้าวเหนียวคุณภาพสูง ในขณะที่ลดการผลิตธัญพืชคุณภาพต่ำลงเหลือ 15% ของผลผลิตทั้งหมดภายในปี 2568 และเหลือ 10% ภายในปี 2573
แม้ว่าพื้นที่ทำนาของเวียดนามจะลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และเกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นและเลี้ยงกุ้ง แต่กลยุทธ์ดังกล่าวดูเหมือนจะก้าวร้าวเกินไป” ผู้ค้าข้าวในนครโฮจิมินห์กล่าวเมื่อวันเสาร์
พ่อค้ากล่าวว่าชาวนาข้าวบางคนในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนที่นาบางส่วนเป็นสวนผลไม้ ปลูกมะม่วง ส้มโอ ขนุน และทุเรียน แต่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาข้าว
แนวโน้มการเลี้ยงกุ้งเกิดขึ้นในพื้นที่มานานหลายปี เนื่องจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความเค็มเพิ่มขึ้นอย่างมากในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง