เวิลด์แบงก์ แนะไทยลดรร.ประถม เพิ่มงบอนุบาล-มัธยม ช่วยพัฒนาทุนมนุษย์
เวิลด์แบงก์ แนะนำประเทศไทยลดโรงเรียนประถมขนาดเล็กที่ไม่มีประสิทธิภาพ ลงทุนให้กับการศึกษาระดับชั้นอนุบาลมากขึ้น และจัดสรรทรัพยากรให้ระดับชั้นมัธยมศึกษาอย่างเพียงพอ เพื่อเพิ่มคุณภาพทุนมนุษย์
ในงานสัมมนาการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐไทยของธนาคารโลก เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ระบุว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ทุนมนุษย์ และเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับทุนมนุษย์ธนาคารจึงเน้นวิเคราะห์ไปที่ 3 ภาคส่วน ได้แก่ การพัฒนาทุนมนุษย์ ในด้านการศึกษา, การปรับปรุงสาธารณสุข และการคุ้มครองทางสังคม
“โรนัลด์ อาเปนยู มูตาซา” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณการศึกษาของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายต่อหัวนักเรียนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาลดน้อยลง และเมื่อดูผลคะแนนสอบ PISA พบว่า
ผลการเรียนรู้ของนักเรียนน้อยลง โดยมีนักเรียน 60% ทำคะแนนได้ต่ำกว่าคาด
ผลคะแนนดังกล่าว ประเทศไทยทำได้ดีกว่าแค่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ถ้าเทียบกับเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทยทำคะแนนได้น้อยกว่า แม้ไทยมีค่าใช้จ่ายการศึกษาต่อรายหัวนักเรียนมากกว่า
ปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุมาจากรัฐบาลไทยใช้จ่ายงบประมาณไปกับการศึกษาระดับประถมศึกษา สูงกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาและระดับชั้นอนุบาล ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาและทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพและทรัพยากรไม่เพียงพอจำนวนมาก เช่น ขาดแคลนครูและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
ธนาคารโลกแนะนำให้รัฐบาลปฏิรูปด้านการศึกษา ดังนี้
1.รวมโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กเข้าด้วยกัน พร้อมกับจัดสรรครูและทรัพยากรต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์การเรียนการสอนให้เหมาะสม เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายการศึกษารายหัวของนักเรียนชั้นประถม และนำส่วนลดดังกล่าวไปจัดสรรให้นักเรียนในระดับชั้นอื่นได้ หรืออีกทางเลือก คือ เพิ่มงบประมาณให้กับทุก ๆ โรงเรียนในประเทศ รวมถึงรร.ประถมขนาดเล็กจำนวนมาก แต่อาจต้องเพิ่มครูถึง 64,000 คน เพื่อกระจายครูให้ทั่วถึง และยังต้องเพิ่มอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากด้วย
2.รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้นักเรียนระดับชั้นเด็กก่อนวัยเรียนมากขึ้น และเพิ่มสถานศึกษาอนุบาลที่มีคุณภาพ เนื่องจากช่วงอายุ 3-5 ปี เป็นวัยที่สำคัญต่อการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ สังคม และวิชาการ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีของการเรียนรู้ในอนาคต การลงทุนส่วนนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด โดยมีผลวิจัยว่า การลงทุนพัฒนาสถานศึกษาระดับอนุบาล ช่วยสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ 3-9 เท่าของการลงทุน เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในตลาดแรงงาน
3.ควรลดจำนวนนักเรียนในชั้นเรียนและจัดสรรทรัพยากรในระดับมัธยมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เช่น สื่อการเรียนการสอนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษา
ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษา ทำให้เกิดรายจ่ายเพิ่มประมาณ 0.5% ต่อจีดีพี แต่อัตราการสะสมศักยภาพในทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาคะแนนสอบและคุณภาพการศึกษาไทย รวมทั้งพัฒนาทุนมนุษย์ในระยะยาว และช่วยสนับสนุนให้จีดีพีเติบโต