วันงดสูบบุหรี่โลก ปี2566 “เราต้องการอาหาร ไม่ใช่บุหรี่”

“วันงดสูบบุหรี่โลก” ตรงกับวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี และในปี 2566 ประเด็นรณรงค์คือ “เราต้องการอาหาร ไม่ใช่บุหรี่” เพราะการสูบบุหรี่ นอกจากเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขของไทย ขณะเดียวกันการปลูกใบยาสูบยังส่งผลกระทบในทางลบต่อเกษตรกร ต่อความมั่นคงด้านอาหาร และต่อสิ่งแวดล้อม

เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบจะมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อความไม่มั่นคงทางด้านอาหารเนื่องจากไม่สามารถบริโภคผลผลิตที่ปลูกเป็นอาหารได้

เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบและครอบครัวยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

การปลูกใบยาสูบกระทบต่อเกษตรกร

มีงานศึกษาวิจัยเปิดเผยว่า เกือบ1ใน4 (22.6%) ของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในจังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยป่วยเป็นโรคพิษใบยาสูบสด (เกิดจากการดูดซึมนิโคตินที่ละลายอยู่ในน้ำบนใบยาสูบสดเมื่อเก็บเกี่ยวใบยา) ความชุกของโรคนี้สูงกว่าในเกษตรกรเพศหญิง ( 27.5%) เมื่อเทียบกับเพศชาย (17.9%)

การปลูกใบยาสูบในประเทศไทยพบได้ใน 20 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอัตราความยากจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ งานวิจัยล่าสุด ซึ่งศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบเกือบ 3,000 รายในภาคเหนือพบว่าเกือบ 60% อยากเลิกปลูกใบยาสูบด้วยเหตุผลหลักด้านเศรษฐกิจ 

เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบมักพบว่ารายได้ของพวกเขาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งนำไปสู่ความเดือดร้อนทางการเงิน หนี้สินที่ไม่จบสิ้นและคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

โดยสรุปแล้วเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบเผชิญกับความเสี่ยงด้านอาหาร สุขภาพและความยากจน

 นอกจากนี้ การปลูกใบยาสูบยังทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง สารเคมีจากสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเพาะปลูกสามารถปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังมีการตัดต้นไม้ และถางพื้นที่ป่าเพื่อทำเป็นไร่ยาสูบ ซึ่งส่วนนี้นำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

สนับสนุนปลูกพืชทดแทนใบยาสูบ

ทั่วโลกมีความพยายามที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้หันไปปลูกพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี2547 รัฐบาลของประเทศมาเลเซีย สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้ปลูกต้นปอแก้ว ซึ่งใช้ในการผลิตโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษ ผ้าและเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่งผลให้จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบลดลงอย่างมาก จาก 20,000 รายเป็น 100 รายในปี 2565 

 อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ประเทศฟิลิปปินส์ ออกกฏหมายที่กำหนดว่า ส่วนหนึ่งของภาษีบุหรี่จะถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่อาจได้รับผลกระทบในด้านลบจากยอดขายบุหรี่ที่ตกต่ำลง

ประเด็นรณรงค์ของวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปีนี้ สอดคล้องกับ ข้อกำหนดที่ 17 และ 18 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไปเมื่อปี 2547 ซึ่งเน้นว่าประเทศสมาชิกที่ลงนาม ต้องให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ

โดยการให้คำแนะนำทางวิชาการเรื่องพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่ยั่งยืน โดยเชื่อมโยงเกษตรกรให้เข้าถึงสิ่งจำเป็นต่างๆ และการตลาด ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

ประเทศไทย มีประวัติที่โดดเด่นในเรื่องการปลูกพืชทดแทน โครงการหลวง ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นในปี 2512 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้กว่า 40,000 ครัวเรือนที่เคยปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชทดแทน เช่น กาแฟ ชา ผลไม้และผักต่าง ๆ 

 ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระบุว่า รายได้เฉลี่ยของผู้ที่เคยปลูกฝิ่นและหันมาปลูกพืชทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ในช่วงปี2528 และ 2558 การปลูกฝิ่นลดลงถึง 97% และไม่มีการกลับมาปลูกอีก

เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบสมควรที่จะมีรายได้สูงขึ้น อยู่ในสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบาย และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนอาชีพทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบซึ่งจะทำ ให้พวกเขาเปลี่ยนมาปลูกพืชผลทางการเกษตรอื่นๆที่ไม่ใช่ใบยาสูบ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมให้เกิดสุขภาพที่ดีขึ้นในประเทศไทย