‘ญี่ปุ่น’ แห่เข้าคลาสสอนยิ้ม หลังยกเลิกใส่แมสก์ ลืมไปแล้ว ยิ้มยังไง
ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากตัดสินใจลงเรียนวิธียิ้ม หลังจากอยู่ภายใต้หน้ากากมานาน จนไม่ค่อยได้ขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้า พร้อมอาการประหม่าที่ไม่มีหน้ากากปิดบังอีกต่อไป
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “หน้ากากอนามัย” กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำให้ต่อหลายครั้งเรามักเผลอแสดงสีหน้าภายใต้หน้ากากโดยที่คนอื่นไม่รู้ตัว แต่ขณะเดียวกันบางคนก็ไม่ได้ขยับกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยเช่นกัน เมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 เบาบางลง จนหลายประเทศยกเลิกมาตรการการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ทำให้หลายคนตัดสินลงเรียน “วิธีการยิ้ม” ใหม่
คนรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่นตัดสินใจเสียเงิน 7,700 เยน หรือราว 1,920 บาท ต่อ ชั่วโมง เพื่อลงเรียนคอร์ส “วิธียิ้ม” แบบตัวต่อตัวกับ เคโกะ คาวาโนะ อดีตนักจัดรายการวิทยุที่ผันตัวมาเปิดโรงเรียนสอนการยิ้ม เนื่องจากไม่คุ้นชินกับการเปิดเผยใบหน้าในพื้นที่สาธารณะ และมองว่าการยิ้มเป็นวิธีการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าที่ดี
สำหรับบางโรงเรียนแล้ว การสนับสนับสนุนให้นักเรียนเข้าเรียนคอร์สดังกล่าว ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้เหล่านักเรียนมัธยมปลายก่อนจะเผชิญโลกแห่งการทำงาน
“เวลาสวมใส่หน้ากาก คนเราไม่ได้พยายามยิ้มมากนัก ซึ่งตอนนี้พวกเขากำลังลืมวิธีการยิ้มไป” คาวาโนะบอกกับ New York Times
- สถาบันยิ้มพิมพ์ใจ
เคโกะ คาวาโนะ ดีเจผู้ผันตัวมาเปิดโรงเรียนในชื่อว่า "Egaoiku" ซึ่งแปลว่า สถาบันยิ้มพิมพ์ใจ ในปี 2017 โดยเธอยังได้ฝึกฝนเจ้าหน้าที่ 23 คน ให้เป็นโค้ชสอนยิ้ม เพื่อเผยแพร่เทคนิคสร้างรอยยิ้มที่สมบูรณ์แบบในญี่ปุ่น
คาวาโนะเริ่มต้นจากการสอนตามโรงยิม ก่อนจะกลายเป็นวิทยากรพิเศษอบรมพนักงานในองค์กรหลายแห่งในญี่ปุ่น รวมถึง IBM Japan บริษัทไอทีชั้นนำ ซึ่งนอกจากการเรียนเป็นรายชั่วโมงแล้วคาวาโนะยังมีแพ็คเกจเวิร์กชอปการยิ้มในราคา 80,000 เยน หรือราว 20,000 บาทต่อวันอีกด้วย
สำหรับการเรียนการสอนในคลาสของคาวาโนะ เริ่มต้นด้วยการให้ผู้เรียนสังเกตรอยยิ้มปัจจุบันของตนเอง จากนั้นจะให้ผู้เรียนฝึกยิ้มตาม “เทคนิคการยิ้มแบบฮอลลีวู้ด” (Hollywood Style Smiling Technique) ที่ถือว่าเป็นรอยยิ้มพิมพ์ใจต้นแบบ ที่มีลักษณะ ตาเสี้ยว แก้มกลม และยกขอบปากเห็นฟันบนเรียงตัวสวยครบ 8 ซี่
ในช่วงแรกผู้เรียนจะรับรู้ได้ว่ากล้ามเนื้อใบหน้าไม่เคลื่อนไหวอย่างที่คาดไว้ ไม่สามารถทำตามได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นที่จะต้องคลายกล้ามเนื้อแก้มและบริหารใบหน้า เพื่อจะได้สร้างรูปปากที่สวยงามได้
เมื่อมั่นใจในรอยยิ้มของตนเองแล้ว สามารถลองยิ้มผ่านโปรแกรมให้คะแนนบนแท็บเล็ต เพื่อประเมินผล
คาวาโนะยอมรับว่าธุรกิจของเธอเองก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน แต่เธอยังพอมีลูกค้าบ้างเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของเธอกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง หลังจากคำสั่งบังคับสวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะถูกยกเลิก
เดิมทีคลาสของคาวาโนะเปิดแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่ด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันทำให้ตอนนี้ เปิดคลาสเพิ่มขึ้นเป็น 4 ครั้งต่อปีเป็นที่เรียบร้อย โดยเธอให้ความเห็นว่า ในตอนนี้รอยยิ้มมีความสำคัญกับการหางานมากยิ่งขึ้น
- ใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องปรกติของญี่ปุ่น
อันที่จริงแล้วญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นิยมสวมใส่หน้ากากตั้งแต่ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะชาวญี่ปุ่นใช้หน้ากากอนามัยสำหรับปกป้องตนเองจากหวัดหรือไข้ละอองฟางในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 1,200 คนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาของสถานีโทรทัศน์ NHK ยังแสดงให้เห็นว่าแม้รัฐบาลจะไม่บังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะแล้ว แต่ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดยังคงจะสวมใส่หน้ากากต่อไป มีเพียง 6% เท่านั้นที่มีแนวโน้มจะเลิกสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน
นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยไม่ได้ใช้เพื่อป้องกันโรคภัยต่าง ๆ เท่านั้น คนญี่ปุ่นใช้หน้ากากอนามัยเวลาที่พวกเขาไม่ได้แต่งหน้าหรือโกนหนวดอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อผู้ส่วนใหญ่คนต่างไม่ยอมถอดหน้ากาก คนอื่น ๆ ก็พลอยไม่ถอดหน้ากากตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คนหนุ่มสาวจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิง จะรู้สึกประหม่าเมื่อไม่ได้สวมหน้ากาก จนต้องเข้าคลาสเรียนกับคาวาโนะ
ศ.ยามากุจิ เค มาซามิ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยชูโอ ผู้คนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกสื่อสารผ่านดวงตาเป็นหลัก การใส่หน้ากากจึงไม่ใช่อุปสรรคในการสื่อสาร แตกต่างจากชาวตะวันตกที่แสดงออกทั้งหน้า โดยเฉพาะดวงตาและปาก ดังนั้นหน้ากากอนามัยจึงมีผลต่อการอ่านสีหน้าของชาวตะวันตกอย่างมาก
ขณะที่ คาวาโนะ เชื่อว่าตามวัฒนธรรมแล้ว คนญี่ปุ่นอาจมีแนวโน้มที่จะยิ้มน้อยกว่าชาวตะวันตก เนื่องจากความรู้สึกปลอดภัยในฐานะประเทศเกาะและเป็นรัฐเดี่ยวไม่จำเป็นต้องสุงสิงกับใครมาก
“ตามวัฒนธรรมแล้ว รอยยิ้มเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าฉันไม่ได้ถือปืน และฉันไม่ได้เป็นภัยต่อคุณ” เธอกล่าว ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำเป็นต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติด้วยสายตาที่มากกว่านั้น” คาวาโนะกล่าวเสริม
คาวาโนะเชื่อว่า อีกไม่นานคนญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องกลับมายิ้มอีก แต่ไม่ใช่แค่สำหรับการสมัครงาน หรือต้อนรับนักท่องเที่ยว ทุกคนจะต้องยิ้มเพื่อแสดงความรู้สึกออกมาในชีวิตประจำวัน และช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น ลดความประหม่าไปในตัว
ที่มา: Insider, NHK, New York Times, Reuters