กทม. เฝ้าระวังไวรัสมาร์บวร์ก แนะสวมหน้ากากอนามัย-ล้างมือบ่อยๆ
กทม. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg Virus Disease) พบอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 แนะสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg Virus Disease) ของ กทม.ว่า โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็นโรคที่ยังไม่เคยพบในประเทศไทย แต่ด้วยความรุนแรงของโรคทำให้ไทยจัดเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 เป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสอีโบลา คือ Filoviridae ดังนั้น การประกาศพบผู้ป่วยครั้งนี้ จึงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ซึ่งจากการติดตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยมากขึ้นในประเทศอิเควทอเรียลกินีและแอฟริกากลาง แต่ได้รับการช่วยเหลือควบคุมโรคแล้ว สำหรับประเทศไทยได้เตรียมการเฝ้าระวัง โดยที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพิ่มระบบที่สามารถเฝ้าระวังโรคมาร์บวร์กและคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต้นทางประเทศอิเควทอเรียลกินีและประเทศในแอฟริกากลาง รวมทั้งยกระดับการติดตามข้อมูลผู้ที่เดินทางจากประเทศในแอฟริกากลาง จะต้องต่อเครื่องที่เอธิโอเปียและเคนยา ซึ่งมีผู้เดินทาง เข้ามาประเทศไทย จำนวน 13 คน
ในส่วนของ กทม.ได้เร่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โดยมีระยะฟักตัว 2 – 21 วัน อาการผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว (maculopapular rash) ในรายที่รุนแรง หรือในบางรายที่เสียชีวิต อาการเลือดออกง่ายมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง และช็อก โดยอวัยวะหลายระบบเสื่อม โรคนี้ติดต่อได้ทางเลือดและอุจจาระ เช่นเดียวกับไวรัสอีโบลา พบไวรัสในค้างคาวและแพร่เชื้อมาสู่คน อีกทั้งยังติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือดและสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัส ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่รักษาได้ การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ การป้องกันทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
นอกจากนี้ ได้กำชับเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานพยาบาลสังกัด กทม. หากพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศอิเควทอเรียลกินีและประเทศใกล้เคียงในทวีปแอฟริกาตะวันตกที่มีอาการป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย ให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและรายงานผู้ป่วยที่สงสัยภายใน 3 ชั่วโมง ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำ รวมทั้งเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. กรณีพบผู้ติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ หากประชาชนพบผู้ที่สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือกองควบคุมโรคติดต่อ สนอ.