BIMSTEC Connectivity : Now and the Future
บิมสเทคมองว่า การมี “เสถียรภาพทางสังคม และสภาพแวดล้อมทางการเมือง” เป็นปัจจัยสำคัญช่วยเชื่อมโยงระบบคมนาคมของกลุ่มความร่วมมือให้เดินหน้าต่อไปได้
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนาหัวข้อ “BIMSTEC Connectivity: Now and the Future” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาความเชื่อมโยงในบิมสเทค เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ที่โรงแรมแมริออท เดอะ สุรวงศ์
โดยมีเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวเปิดงาน และวิทยากรที่ร่วมบรรยายได้แก่ จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค กระทรวงคมนาคม Ms. Azhar Jaimurzina, Transport Connectivity Chief คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก Mr. Thiam Hee Ng, South Asia Director ธนาคารพัฒนาเอเชีย และ Dr. Constantino Xavier, นักวิจัย Centre for Social and Economic Progress อินเดีย ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้แทนคณะทูตประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสมาชิกบิมสเทค
ไทยในฐานะประธานบิมสเทค วาระปี 2565 - 2566 และประเทศนำในสาขาการเชื่อมโยง รวมทั้งเวทีสัมมนาเล็งเห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาการคมนาคมหลากหลายรูปแบบ
อย่างไรก็ดี การเชื่อมโยงในบิมสเทคยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไป
ทั้งด้านกายภาพ อาทิ ความแตกต่างของขนาดรางในการขนส่งทางราง ด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจน
การสร้างความเข้าใจและความรู้พื้นฐานของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะอำนวยให้ระบบคมนาคมสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้คือ “ความมีเสถียรภาพทางสังคมและสภาพแวดล้อมทางการเมือง”
นอกจากนี้ ในการสัมมนาเห็นว่า แนวโน้มการพัฒนาความเชื่อมโยงในอนาคตจะต้องนำใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลเพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ และกระจายความเสี่ยงของการพัฒนาความเชื่อมโยง โดยให้ความสำคัญต่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมทั้งการปรับตัวตามมาตรฐานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ บิมสเทค ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2540 โดยไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย บิมสเทคมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจและมรดกทางอารยธรรมร่วมกัน รวมถึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ผ่านทางการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชน