นักการเมืองกับนโยบายเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร
อัตราเงินเฟ้อบ้านเราล่าสุดเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือร้อยละ 0.53 ตํ่ากว่าที่ทุกคนคาด เป็นผลจากราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าที่ลดลงและความอ่อนแอของกําลังซื้อในประเทศ แต่ประเทศหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อยังสูงมาก สูงถึงร้อยละ 40 คือตุรกี
ตุรกี ที่การแทรกแซงการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจของนักการเมืองโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ทําให้เศรษฐกิจตรุกีขณะนี้มีปัญหามากและเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติ เป็นบทเรียนและอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับการทํานโยบาย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เศรษฐกิจตุรกีขณะนี้มีปัญหามาก อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 39.6 เดือนพฤษภาคม ทําให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงมาก กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน
ประเมินกันว่ามากกว่าครึ่งของประชากรในประเทศตุรกีขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างที่เคยมีเพราะราคาสินค้าแพงขึ้นมาก
เงินลีร่าตุรกีอ่อนค่าต่อเนื่อง อ่อนไปแล้วกว่าร้อยละ 7 ปีนี้ ต่อจากปีที่แล้วที่อ่อนค่าไปกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ทําให้ราคาสินค้านําเข้าแพงขึ้น กดดันอัตราเงินเฟ้อในประเทศให้สูงขึ้น
เงินทุนสํารองระหว่างประเทศก็ลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดประเมินว่าเหลือประมาณ 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งตํ่ามากเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศตุรกี
ที่สำคัญ ทุนสํารองระหว่างประเทศที่มีอาจไม่เพียงพอกับภาระเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารกลางตรุกีและรัฐบาลตุรกีมีและต้องชำระคืนในเวลาอันสั้นข้างหน้า
คือ ทุนสํารองสุทธิติดลบ ทําให้ตุรกีอาจมีปัญหาในการชําระภาระเงินตราต่างประเทศของภาครัฐ จำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้ใหม่เข้ามาเสริม และถ้าไม่มี เศรษฐกิจตุรกีก็อาจเจอกับการขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ นำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในที่สุด
สาเหตุหลักของปัญหาในตุรกีคือเศรษฐกิจใช้จ่ายเกินตัวทั้งภาครัฐและเอกชน กระตุ้นโดยโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มองสั้น (Shorterism) เน้นผลระยะสั้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและละเลยภัยหรือความเสี่ยงที่จะมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ผลคือเศรษฐกิจเติบโตแต่ประเทศมีปัญหาเสถียรภาพ คือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวไม่หยุด อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงสุดถึงร้อยละ 86 เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนจะลดลงมาที่ร้อยละ 39.6 เดือนพฤษภาคมปีนี้
อัตราเงินเฟ้อในตุรกีเร่งตัวจากระดับร้อยละ 10 ช่วงปี 2021 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก แต่ขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเเรงกดดันของเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางตุรกีกลับทําตรงข้ามตามคําสั่งประธานาธิบดี คือ นาย เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) คือปรับลดอัตราดอกเบี้ย สวนทางกับตำราเศรษฐศาสตร์
เพราะประธานาธิบดีเชื่อว่า การแก้เงินเฟ้อต้องแก้ด้วยการลดดอกเบี้ย และมุ่งมั่นที่จะทำนโยบายนี้ถึงขนาดปลดผู้ว่าธนาคารกลางถึงสามคน และแต่งตั้งลูกเขยเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้
เราจึงเห็นอัตราดอกเบี้ยถูกปรับลงตั้งแต่ไตรมาสสามปี 2021 ลดลงมากกว่าร้อยละ 10 และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 8.5 การลดอัตราดอกเบี้ย
ทำให้เศรษฐกิจตุรกีขยายตัวถึงร้อยละ 4 ต่อปี แต่ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงมากถึงร้อยละ 40 ทําลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจถอนเงินลงทุน ประชาชนหันมาถือสินทรัพย์ต่างประเทศแทนสินทรัพย์เงินสกุลท้องถิ่น เพื่อปกป้องเงินออมจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง กดดันให้เงินลีร่าตุรกีอ่อนค่าต่อเนื่อง
ประธานาธิบดี เรเจป แอร์โดอัน นักการเมืองอำนาจนิยม ผู้ครองตําแหน่งผู้นําตรุกีมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดปลายเดือนที่แล้วได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52 ทําให้สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี
ชัยชนะดังกล่าวเหมือนยืนยันว่าประชาชนยังสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ไปตามตําราของประธานาธิบดี ทําให้ประธานาธิบดีอาจยิ่งมั่นใจและคงนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป
แต่ในสายตาตลาดการเงิน สถานการณ์เศรษฐกิจของตุรกีขณะนี้เปราะบางและอ่อนไหวต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเพราะทุนสำรองทางการสุทธิติดลบ
จำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นให้เกิดเงินทุนไหลเข้า และหลีกเลี่ยงไม่ให้ตุรกีต้องเจอกับภาวะขาดแคลนสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจ
แต่ประธานาธิบดีจะทําหรือไม่โดยทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ยังไม่ชัดเจน เป็นความไม่แน่นอนสําคัญที่ประเทศมีขณะนี้
ในแง่นโยบายเศรษฐกิจ บทเรียนจากกรณีตุรกีคือ
หนึ่ง นักการเมืองมักมองสั้น มุ่งแต่กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อคะเเนนนิยม แม้จะสร้างปัญหาเสถียรภาพตามมา
สอง ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เป็นข้อเท็จจริงที่มีบทพิสูจน์เชิงประจักษ์ ดังนั้นนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับหลักเศรษฐศาสตร์ถึงจุดหนึ่งก็จะสร้างปัญหาจนนโยบายไปต่อไม่ได้ ต้องเปลี่ยนนโยบาย
สาม นักการเมืองส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับความผิดพลาดทางนโยบายที่ตนทำ กลัวเป็นจุดด่างทางการเมือง จะรอจนนาทีสุดท้ายจนไม่มีทางเลือกอื่นและก็จะสายไป ซึ่งกรณีตุรกีเดาว่าอาจไปในทางนี้เช่นกัน ไม่แตกต่าง
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล