'นิกเกิลล้นตลาด-ราคาร่วง' หลังอินโดฯเร่งผลิตป้อนอุตฯอีวี
'นิกเกิลล้นตลาด-ราคาร่วง' หลังอินโดฯเร่งผลิตป้อนอุตฯอีวี โดยโรงถลุงแร่นิกเกิลจำนวนมากในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 15 แห่งในปี 2561 เป็น 62 แห่ง นับจนถึงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
ปริมาณแร่นิกเกิลทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะสูงกว่าความต้องการในตลาดในปีนี้ เนื่องจากโรงงานถลุงแร่นิกเกิลหลายแห่งของอินโดนีเซีย เริ่มจำหน่ายแร่ชนิดนี้เพื่อนำไปผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสแตนเลสกำลังมาแรง ส่งผลให้ราคาแร่นิกเกิล ต่ำกว่าราคาที่เคยทำสถิติสูงสุดเมื่อปี 2565
ราคาแร่นิกเกิล และสแตนเลสเพิ่มขึ้นทำลายสถิติใหม่เมื่อปีก่อน หลังรัสเซีย ผู้ผลิตแร่นิกเกิลที่สำคัญอีกรายหนึ่ง เปิดฉากรุกรานยูเครน บวกกับความต้องการแร่นิกเกิลคลาส 1 เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแร่ที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แร่ชนิดนี้มีความบริสุทธิ์สูงกว่าแร่นิกเกิลคลาส 2 ที่โดยปกติจะใช้ในการผลิตสแตนเลส
นักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า การผลิตนิกเกิลเริ่มเกินความต้องการในตลาดอีกครั้งเมื่อปี 2565 เนื่องจากโรงงานถลุงแร่ของจีนในอินโดนีเซีย เร่งผลิตนิกเกิลดิบและเฟอร์โรนิกเกิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฟอร์โรนิกเกิลใช้เป็นวัสดุในการผลิตสแตนเลสขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงทำให้ความต้องการใช้สแตนเลสลดลง
“เอลลี หวัง” นักวิเคราะห์จากบริษัทให้คำปรึกษาซีอาร์ยู กรุ๊ป ในเซี่ยงไฮ้ บอกว่า ปริมาณนิกเกิลในตลาดเริ่มสูงกว่าความต้องการในปี 2565 และจะไม่ลดลงไปจนถึงปี 2571
นอกจากนี้ หวัง ยังย้ำว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงเดือน มี.ค.การผลิตสแตนเลสทั่วโลกลดลงติดต่อเป็นไตรมาสที่ 6 ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง และการจำหน่ายรถยนต์อีวีเริ่มซบเซา หลังจากรัฐบาลจีนยกเลิกเงินอุดหนุนรถยนต์อีวีเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2565
ทั้งนี้ จีนเป็นผู้ผลิตและเป็นลูกค้าสแตนเลส รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรีรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ด้วยยอดขายอีวีของจีน ที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อาจทำให้ความต้องการนิกเกิลพุ่งขึ้นถึง 4.3 ล้านตัน ภายในปี 2570 จากระดับความต้องการไม่ถึง 3 ล้านตันเมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมแบตเตอรีเริ่มเข้ามาแทนที่สแตนเลส จากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
“ซีอาร์ยู คาดการณ์ว่า สัญญาซื้อขายนิกเกิลระยะ 3 เดือน ในตลาดซื้อขายโลหะ London Metal Exchange มีราคาเฉลี่ยประมาณ 23,700 ดอลลาร์ต่อตันในปีนี้ จากเดิม 25,600 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2565 และจะลดลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 20,000 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2569 ซึ่งยังคงสูงเป็นประวัติการณ์” หวัง ระบุ
โรงงานถลุงแร่จำนวนมากในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังมีอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทั้งยังมีการลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์จากบริษัทจีน ในอุตสาหกรรมโรงถลุงแร่นิกเกิลอินโดนีเซีย ขณะที่โรงถลุงแร่นิกเกิลในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน
ล่าสุด รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแผนลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมเหมืองนิกเกิล เพื่อพัฒนาแบตเตอรีจากการลงทุนของหลายกลุ่มบริษัท รวมทั้งเกลนคอร์ บริษัทซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์, เหมืองแร่สัญชาติสวิส, ยูมิคอร์ ผู้ผลิตวัสดุแบตเตอรี่สัญชาติเบลเยียม และเอเนกา ทัมบัง บริษัทเหมืองของรัฐบาลอินโดนีเซีย
“ไมดี แคทริน เลงกี” เลขาธิการทั่วไปของสมาคมคนงานเหมืองแร่นิกเกิลอินโดนีเซีย หรือเอพีเอ็นไอ กล่าวว่า โรงถลุงแร่นิกเกิลจำนวนมากในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 15 แห่งในปี 2561 เป็น 62 แห่ง เมื่อเดือนเม.ย. ปีนี้ และยังมีอีกหลายแห่งที่อยู่ในขั้นตอนดำเนินงาน โดยโรงถลุง 30 แห่ง กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนอีก 50 แห่งอยู่ในขั้นตอนวางแผน
“จิม เลนนอน” ที่ปรึกษาสินค้าโภคภัณฑ์ระดับอาวุโสของแมกควอรี กรุ๊ป กล่าวผ่านงานการประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมนิกเกิลและโคบอลต์อินโดนีเซีย 2023 ในเซี่ยงไฮ้ ช่วงปลายเดือน พ.ค.ว่า อินโดนีเซียวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตนิกเกิลต่อปีไว้มากกว่า 5 ล้านตัน และนับตั้งแต่ปี 2565 ถึงปี 2572 การผลิตนิกเกิลของอินโดนีเซียจะมีสัดส่วนมากกว่า 75% ของปริมาณการผลิตนิกเกิลทั่วโลก
หากความต้องการใช้งานแร่นิกเกิล จากการผลิตนิกเกิลในอินโดนีเซียลดลง ตลาดนิกเกิลอาจเกิดอุปทานส่วนเกินอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า
ขณะที่ผลสำรวจด้านธรณีวิทยาของสหรัฐ คาดการณ์ว่า ผลผลิตจากเหมืองนิกเกิลในอินโดนีเซียอาจสูงถึง 1.6 ล้านตันในปี 2565 เพิ่มขึ้น 54% จากปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนการผลิตแร่นิกเกิลเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งคาดว่ามีปริมาณอยู่ที่ 3.3 ล้านตัน
อินโดนีเซียมีความเชื่อมโยงกับออสเตรเลีย ในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยแต่ละประเทศมีแหล่งแร่นิกเกิล คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของแหล่งแร่นิกเกิลโลก
นักวิเคราะห์มองว่า แม้แบตเตอรีลิเทียมไออนฟอสเฟสที่บรรจุแร่นิกเกิล มีความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งความต้องการส่วนใหญ่มาจากจีน แต่แบตเตอรี่ที่ผลิตด้วยนิกเกิลยังคงครองตลาดแบตเตอรี่ทั่วโลกไปจนถึงปี 2573 เนื่องจากเป็นแหล่งให้พลังงานจำนวนมากแก่รถยนต์อีวีที่วิ่งได้ระยะไกล
อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนแร่นิกเกิลคลาส 1 ซึ่งส่วนใหญ่มากจากรัสเซีย นิวแคลิโดเนียและแคนาดา ผลักดันให้การผลิตแบตเตอรีจำนวนมากเน้นแปรรูปแร่เกรดต่ำของอินโดนีเซีย ให้เป็นวัสดุที่เหมาะสมต่อแบตเตอรี ด้วยการใช้เทคโนโลยีชะล้างกรดด้วยความดันสูง (เอชพีเอแอล) ของจีน
แต่การนำวิธีผลิตแบบเอชพีเอแอลมาใช้ ก่อให้เกิดความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากมีการปล่อยคาร์บอนฟรุตพริ้นท์จำนวนมาก โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ซึ่งยังคงพึ่งพาการใช้ถ่านหินอย่างหนักเพื่อผลิตไฟฟ้า และไม่มีแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียจากการผลิตจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม มีผู้เล่นในบางอุตสาหกรรมพึงพอใจที่ราคานิกเกิลตกต่ำลง รวมทั้งซีเอ็นจีอาร์ แอดวานซ์ แมทีเรียลส์ ผู้ประกอบการธุรกิจวัสดุเพื่อการผลิตแบตเตอรี่สัญชาติจีน
“ดานี วิดจาจา” รองประธานซีเอ็นจีอาร์ เปิดเผยในที่ประชุมเหมือง ณ กรุงจาการ์ตาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “เราไม่ชอบที่ราคานิกเกิลสูงเกินไป ผู้คนจะหาสิ่งใหม่ ๆ มาทดแทน ดังนั้น เราจึงพอใจมากที่ราคานิกเกิลคงที่”