กรณีศึกษา 'มลพิษ' ที่นครนิวยอร์ก | กันต์ เอี่ยมอินทรา
เป็นที่น่าตกใจอย่างมากเมื่อมหานครนิวยอร์กตกอยู่ภายใต้วิกฤติมลภาวะทางอากาศเมื่อสัปดาห์ก่อน อันเนื่องมาจากควันจากไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศแคนาดา
ฝุ่นพิษมีความรุนแรงมาก ขนาดทำให้ท้องฟ้าเหนือนครนิวยอร์กกลายเป็นสีแดง เมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการวัดปริมาณฝุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 204 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่อันตรายมากต่อคนทุกกลุ่ม และในวันเดียวกันนั้น มีการวัดปริมาณมลพิษได้สูงที่สุดถึง 460 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติเมื่อปี 2542
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าแล้งของสหรัฐคือปัญหาไฟป่า และผลพวงของปัญหาไฟป่านั้นก็รุนแรง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ไฟป่าทำลายบ้านเรือนชุมชน และการดับไฟก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยพื้นที่ ๆ กว้างขวางของสหรัฐ ประกอบกับความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนขึ้นทุกปี จึงทำให้มีผู้เดือดร้อนจากไฟป่าเป็นจำนวนมากในทุก ๆ ปี ไม่นับรวมผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษที่มาจากควันไฟ
- สภาพอากาศในนครนิวยอร์กที่เต็มไปด้วยหมอกควันจากไฟป่าแคนาดา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (เครดิตภาพ: AFP) -
หากจะโฟกัสลงมาถึงเรื่องของมลพิษอันมาจากไฟป่าแล้ว มลพิษจากควันไฟป่าที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้เกิดขึ้นที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน เมื่อ 3 ปีก่อนที่วัดปริมาณมลพิษได้สูงสุดถึง 465 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร เรียกได้ว่าระดับเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นครนิวยอร์กเมื่อสัปดาห์ก่อน
และหากพูดถึงไฟป่าที่รุนแรงส่งผลกระทบในวงกว้างในสหรัฐแล้ว ก็สมควรพูดถึงไฟป่าทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2561 ที่รุนแรงและก็สามารถวัดปริมาณฝุ่น ณ เมืองซานฟรานซิสโก ด้วยค่าเฉลี่ยที่สูงถึง 177 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่าเป็นคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของเมือง แต่ก็ยังไม่เท่ากับที่เกิดขึ้นในนครนิวยอร์กที่วัดค่าเฉลี่ยได้ที่ 204 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ด้านนักวิชาการระบุชัดเจนว่า คุณภาพอากาศที่แย่เป็นประวัติการณ์ในนครนิวยอร์กนั้นเป็นผลมาจากไฟป่าในรัฐควิเบคของแคนาดา ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นบ่อยในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ เมื่อเทียบกับไฟป่าทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าฝั่งตะวันออกในช่วงหน้าแล้ง ปรากฏการณ์ไฟป่าทางฝั่งตะวันตกนั้นเกิดซ้ำ ๆ จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นฤดูไฟป่า
คุณภาพอากาศที่แย่เป็นประวัติการณ์ของนครนิวยอร์กที่เปลี่ยนท้องฟ้าจนกลายเป็นสีแดงนี้เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แค่ไม่ถึงสัปดาห์ คนก็บ่นวิจารณ์แสดงความไม่พอใจกันเสียงดัง ขณะที่ในเมืองใหญ่ของบางประเทศนั้น คุณภาพอากาศที่แย่อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหากลับไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐเพื่อเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ ในไทยหรืออินเดีย
หากคิดว่าปัญหาคุณภาพอากาศทางตอนเหนือของไทยแย่แล้ว จำต้องเรียนให้ทราบว่า ที่อินเดียนั้นแย่กว่ามาก โดยอินเดียนั้นมีเมืองที่ติดท็อป 10 ของเมืองที่อากาศแย่สุดอยู่ถึง 6 เมือง และมีรายงานศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่ออายุขัยเฉลี่ยของคนอินเดียในพื้นที่เสี่ยงหลายร้อยล้านคนที่อาจลดลงถึง 9 ปี ขณะที่ประมาณการถึงยอดผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากมลพิษทั้งทางตรงและอ้อมนั้นอาจมีตัวเลขสูงถึง 1.6 ล้านคน
- สภาพอากาศในนครนิวยอร์กปัจจุบัน (12 มิ.ย.) ที่หมอกควันคลี่คลายลงจากสัปดาห์ที่แล้ว (เครดิตภาพ: AFP) -
และต้นตอของปัญหามลพิษในอินเดีย หากยกเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี มาเป็นกรณีศึกษาจะพบว่า มลพิษนั้นมีที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน การจราจร และการเผาไร่เพื่อเตรียมการฤดูเพาะปลูกที่ทำกันอย่างเคยชินมาเป็นเวลานาน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับที่มาของปัญหามลพิษในไทยอย่างมาก ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังและก็ไม่มีทีท่าว่าจะถูกแก้ไขในเร็ววัน
กลับมาที่สหรัฐ ที่ถึงแม้ปัจจุบันเหตุการณ์มลพิษในมหานครนิวยอร์กจะกลับมาปกติดังเดิมแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นกรณีที่น่าศึกษาถึงผลกระทบ และมาตรการป้องกันที่รัฐบาลสหรัฐน่าจะมีขึ้นเพื่อจัดการและลดความเสี่ยงที่จะลดโอกาสการเกิดไฟป่าลง ถึงแม้ว่าไฟป่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและอิทธิพลทั้งทางการค้าและการเมือง จึงเป็นที่น่าจับตาว่าสหรัฐจะมีมาตรการต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ทั้งการเยียวยาและการป้องกันเหตุซ้ำรอยในอนาคต